เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย รศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ รศ.ดร.สายวรุฬ ชัยวานิชศิรริ ประธานกรรมการจัดการประชุม วทท.ครั้งที่ 45 แถลงถึงความพร้อม และการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วทท.) ครั้งที่ 45 โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรีตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 7 ตุลาคม 2562 และจะทรงประทับรับฟังปาฐกถาพิเศษจากเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวิชาเคมีปี ค.ศ.2005 โดยศาสตราจารย์ Robert H.Grubbs จาก California Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “Discovery and Appications of selective olective metathesis catalysts” ด้วย
รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่าปัจจุบัน มฟล.ก่อตั้งมาครบ 20 ปี และได้รับการพัฒนาจนเปิดทำการเรียนการสอนได้จำนวน 15 สำนักวิชา ผลิตนักศึกษาออกสู่สังคมกว่า 20,000 คน และได้รับการจัดระดับด้านการวิจัยอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก ดังนั้น มฟล.จึงมีความพร้อมในการจัดการประชุมดังกล่าวทั้งด้านสถานที่ บุคลากร การบริหารจัดการ และเชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ ทางนักศึกษา บุคคลากรทางการศึกษาของ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการประชุมครั้งนี้
รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่าสมาคมฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ หมุนเวียนจัดการประชุมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2492 รวมทั้งยังได้จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมงานด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ถือว่ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมจัดกับ มฟล.ที่มีความพร้อมอย่างยิ่ง
รศ.ดร.สายวรุฬ ชัยวานิชศิรริ ประธานกรรมการจัดการประชุม วทท.ครั้งที่ 45 กล่าวว่าการจัดประชุมจะมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไปร่วมเป็นจำนวนมากเพราะเป็นเวทีระดับนานาชาติซึ่งจะทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กัน โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของประเทศไทยรวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงจากทั่วโลก 50 คนไปร่วม รูปแบบการประชุมเป็นแบบนานาชาติและยังมีวิทยากรและผู้นำเสนอผลงานจากต่างประเทศโดยจะมีกลุ่มอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วยภาคบรรยายและภาคโปสเตอร์ 14 สาขาวิชา มีการแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์ นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์
ด้าน รศ.ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มฟล.กล่าวว่าในปี 2562 นี้สำนักวิทยาศาสตร์ มฟล.ก็มีการฉลองครบรอบ 20 ปีการสถาปนาคณะพอดีดังนั้นการได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดประชุม วทท.ครั้งที่ 45 จึงเป็นแรงสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจได้พัฒนามากขึ้นเป็นอย่างดีโดยเฉพาะปัจจุบัน มฟล.มีการจัดกิจกรรมร่วมกับการประชุม วทท.ครั้งที่ 45 ด้วย โดยร่วมกับ 7 สำนักวิชาคือสำนักวิชาการแพทย์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางซึ่ง มฟล.เปิดขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแรกของประเทศไทย สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และสำนักวิชาการจัดการ รวมทั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านเชื้อราและศูนย์การศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่าและหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาค จัดกิจกรรมประชุมร่วมนานาชาติ 2 งาน กิจกรรมเวิร์คชอปส์ 2 งาน กิจกรรมร่วมวิเคราะห์ 4 หัวข้อ ดังนั้นการประชุม วทท.ครั้งที่ 45 จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย/////