เปิดบ้านศิลปินเชียงราย

แชร์ข่าว

เปิดบ้านศิลปินเชียงราย กระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อหลายคนไม่เคยเห็นความสวยงามที่ถูกซ่อนเอาไว้ในพื้นที่ต่าง ๆ จัดเส้นทางให้นักท่องเที่ยวต้องไปชมสักครั้ง

วันที่ 24 สิงหาคม 2563 นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงราย นางจิตรา สิทธนานุวัฒน์ วัฒนธรรม จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าว “เปิดบ้านศิลปิน”  ที่ห้อง บุษราคัม โรงแรมไดมอนด์ปาร์คอินน์ เชียงราย รีสอร์ท จ.เชียงราย โดยมีศิลปินชาวเชียงราย และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากทางสมาคมขัวศิลปะเชียงรายได้คัดเลือกบ้านของศิลปินใน จ.เชียงราย ได้จำนวน 10 หลังและจะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมเพื่อส่งเสริมผลงานทางศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีและการท่องเที่ยว 

โดยกำหนดเปิดเส้นทางตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไปไปตามถนนสาย อ.ขุนตาล-เทิง เพื่อชมบ้านศิลปินนิติพล เลาย้าง อ.ขุนตาล ศิลปินศัจกร แก้วกุลา อ.เทิง และศิลปินมานิตย์ กันทะสัก ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ส่วนวันที่ 2 ก.ย.ไปยัง อ.พาน เพื่อชมบ้านศิลปินกำพล มะโนใจ ศิลปินขวัญ กันทะบุตร และศิลปินสราวุฒิ คำมูลชัย ผู้ปั้นอนุสาวรีย์นาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซมซึ่งเป็นวีระบุรุษถ้ำหลวง และวันที่ 3 ก.ย.อยู่ในเขต อ.เมืองเชียงราย โดยมีการจัดให้ชมบ้านศิลปินแก้วฟ้า เกสรศุกร์ อ.เวียงชัย ศิลปินสุรยัน วงศ์โยธา และศิลปินดิษณ์กร สุทธสม อ.เมืองเชียงราย รวมจำนวนทั้งหมด 10 หลัง

นายประจญ กล่าวว่ากระทรวงวัฒนธรรมได้เลือกให้ จ.เชียงราย เป็นเมืองแห่งศิลปะ 1 ใน 3 จังหวัดทั่วประเทศไทยคือเชียงราย นครราชสีมา และกระบี่ และเนื่องจากเรามีศิลปินกว่า 300-400 คนซึ่งคงจะมากสุดจึงได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากบ้านศิลปินดังกล่าวที่พยายามเปิดตัวเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปเที่ยวชมนอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวเดิมที่มีอยู่แล้ว ล่าสุดจังหวัดยังได้รับงบประมาณ 15 ล้านบาท เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมทางศิลปะในปี 2564 ออกแบบโดยศิลปินขัวศิละเชียงรายเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นซิตี้ ออฟ อาร์ต หรือเมืองแห่งศิลปะและจากนี้จะขยายไปยัง 18 อำเภอและส่วนราชการต่างๆ ด้วย

นางจิตรากล่าวว่าที่ผ่านมา จ.เชียงราย ได้เปิดบ้านศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมได้จำนวน 60 หลังแล้ว โดยปี 2562 ได้เปิดจำนวน 30 หลัง สำหรับปี 2563 นี้ได้รับงบประมาณจากทางจังหวัด 1 ล้านบาทเพื่อดำเนินการเปิดเพิ่มเติมอีก 10 หลังดังกล่าว ซึ่งกิจกรรมนั้นนอกจากจะเปิดเส้นทางไปตามบ้านหลังต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีกิจกรรม “ข่วงศิลปินพื้นบ้านล้านนา” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงราย วันที่ 5-6 ก.ย.นี้เพื่อถ่ายทอดและสาธิตภูมิปัญญารวมทั้งมีกิจกรรมการมีส่วนร่วมหรือเวิร์คช็อปอีกด้วย

ด้านอาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าปัจจุบันบรรดาศิลปินได้มีการพัฒนาผลงานทางศิลปะที่บ้านหรือสตูดิดของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และขยายไปยังหลายๆ จังหวัดล่าสุดที่ จ.พะเยา ก็เปิดบ้านศิลปินหลังแรกไปแล้วโดยมี จ.เชียงราย เป็นต้นแบบ ซึ่งบ้านศิลปินดังกล่าวสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวได้และยิ่งในปัจจุบันส่วนราชการ นักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ คนทั่วไปต่างสนใจศิลปะกันมากขึ้นจึงมีการนำศิลปะมาพัฒนาเพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ตัวอย่างล่าสุดที่ จ.พะเยา ได้มีผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นักการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ได้ฟื้นโครงการเดิมที่จะสร้างผลงานทางศิลปะบริเวณกว๊านพะเยาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปพักแทนที่จะเป็นเพียงเมืองผ่าน และได้ขอให้ตนออกแบบผลงานทางศิลปะขนาดใหญ่ไว้บริเวณกว๊านพะเยาซึ่งตนก็ออกแบบให้โดยใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งป้จจุบัน จ.พะเยา มีอยู่แล้วจำนวน 100 ล้านบาทจึงอยู่ระหว่างผลักดันและคาดว่าในอนาคต จ.พะเยา จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวมากขึ้นแน่นอน

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกว่าสำหรับ จ.เชียงราย นั้นเรามีผลงานทางศิลปะต่างๆ กระจายทั่วไปจังหวัดมากมาย เช่น วัดร่องขุ่น บ้านดำ ไร่เชิญตะวัน ฯลฯ และยังมีบ้านศิลปินอีกกว่า 60-70 หลัง ดังนั้นจึงมีโครงการจะคัดสรรให้เหลือเพียง 20 หลังเพื่อรับรางวัลจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นสุดยอดบ้านศิลปิน วัตถุประสงค์เพื่อให้หมาะสมกับการส่งเสริมการตลาดกรณีดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือนรวมทั้งกระตุ้นให้ศิลปินได้พัฒนาบ้านของตัวเองอยู่เสมอ โดยจะใช้อาคารขัวศิลปะเชียงรายแห่งใหม่ซึ่งจะย้ายไปยังวัดร่องขุ่นในอีก 3 ปีข้างหน้าในการประชาสัมพันธ์บ้านศิลปินดังกล่าว เพราะวัดร่องขุ่นมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจำนวนมากอยู่แล้วจึงสามารถดึงดูดผู้ชื่นชอบให้ไปเยือนบ้านศิลปินตามเส้นทางต่างๆได้สะดวก ซึ่งโครงการจะเริ่มในเดือน พ.ย.2563 นี้และบ้านที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเข็มกลัดจากผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนในอนาคตก็จะมีการคัดสรรและมอบรางวัลเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้มีการพัฒนาบ้านศิลปินตลอดไป

“ในจังหวัดอื่นๆ เขาไม่มีศิลปินมากเหมือนเรา แม้แต่กระบี่ซึ่งมีการจัดงานก็มีแต่ศิลปินจากนอกพื้นที่ซึ่งที่โคราชเขาก็กลัวจะเป็นอย่างนี้ แต่ที่เชียงรายผมได้ให้ทางสมาคมขัวศิลปะได้คุยกับทางวัฒนธรรมแล้วว่าเราจะส่งเสริมกิจกรรด้วยศิลปินชาวเชียงราย ที่สำคัญเพื่อรองรับงานอาร์ตเบียนนาเลย์ 2566 เพราะที่ จ.นครราชสีมา ได้เลื่อนการจัดงานออกไป 1 ปีทำให้เดิมที่เราคาดว่าจะจัดปี 2565 ก็จะเลื่อนออกไปดังกล่าว” อาจารย์เฉลิมชัยกล่าวและว่าเมื่อบ้านศิลปินกระจายไปทั่วจังหวัดก็จะมีการขายของที่ระลึก ร้านค้าบริเวณโดยรอบก็จะสามารถจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวได้และเศรษฐกิจท่องเที่ยวในภาพรวมยุคโควิด-19 ก็จะได้รับการกระตุ้นให้ฟื้นขึ้นมาได้ด้วยการใช้ศิลปะดังกล่าวในที่สุด.

ข่าวอื่นๆ