ลูกหลานเจ้าเมืองเชียงรายคนสุดท้าย ปี 2448 เตรียมส่งมอบตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย อายุ 115 ปี คืนให้จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นสมบัติของประเทศไทย ให้คนรุ่นหลังศึกษา ความเป็นมาจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยตราประจำเมืองนั้น มีความสมบูรณ์และยังคงความงดงาม
วันที่ 4 มีนาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “เจ้าเจือจันทร์” นางเจือจันทร์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกหลานของ พระยารัตนาณาเขต เจ้าเมืองเชียงราย คนที่ 4 ซึ่งเป็นคนสุดท้ายในปี พ.ศ.2442-2448 ได้นำ “ตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย” หรือตราประจำเมืองเชียงรายในอดีต มีอายุมากถึง 115 ปี มาเก็บรักษาเอาไว้ที่บ้านพัก ในชุมชนดอยสะเก็น เขตเทศบาลนครเชียงราย เพื่อกราบไห้วบูชา ในการระลึกถึง คุณงามความดีของบรรพบุรุษ ที่ได้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงรายมาจากอดีต
เจ้าเจือจันทร์ เล่าว่า ตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย ที่ได้มานั้น เนื่องจาก เจ้าสุพรรณี (ณ เชียงใหม่) ลัภนะวรรณะ ทายาทชั้นเหลนเจ้าราชวงศ์บัวระกต เจ้าราชวงศ์เมืองเชียงราย ปัจจุบันอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งต่อมายังเจ้าเจือจันทร์ เพื่อเก็บรักษาในประเทไทย ซึ่งเมื่อได้ตราประจำเมืองดังกล่าวมา ได้มีการปรึกษากับคุณบุญรอด คุณฐณกฤษฎ์ อุณหะนันทน์ ทายาทชั้นเหลนเจ้าราชวงศ์บัวระกต เจ้าราชวงศ์เมืองเชียงรายและลูกหลานทุกคน มีความเห็นตรงกันว่า จะมีการส่งมอบตราดังกล่าวให้เป็นสมบัติของประเทศไทย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ถึงการพัฒนาบ้านเมือง จังหวัดเชียงราย ในอดีต และตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย มีความสวยงามและสมบูรณ์ที่สุด ถึงแม้เวลาจะผ่านนานกว่า 100 ปี
นอกจากนี้ความเป็นมาของ เจ้าเมืองเชียงราย และการพัฒนาจังหวัดเชียงราย จากอดีตถึงปัจจุบัน ได้มีการจัดทำประวัติ หรือสถานที่ศึกษาของผู้ที่สนใจไว้ที่ เฮือนเก่าเจ้าหลวง ซึ่งตั้งอยูภายใน โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาได้
เจ้าเจือจันทร์ กล่าวว่า ส่วนการส่งมอบ ตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย อายุ115 ปี ให้กับจังหวัดเชียงราย จะได้มีการกำหนดวันเวลาอีกครั้ง โดยจะประสานงานกับทาง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมอบต่อไป
ประวัติตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย
ตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงราย เป็นตราประจำเมืองพันธุมติรัตนอาณาเขต หรือ เมืองเชียงรายในอดีต เป็นรูปหอระมาน (หนุมาน) ด้านล่างมีตัวอักษรล้านนา เขียนว่า “เมืองพันธุมติอะณาเขรษ” มีขนาดรอบวง 23 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 7.4 เซนติเมตร ตัวด้ามทำด้วยงาช้างขาวบริสุทธิ์ ยาว 12.5 เซนติเมตร
อาจารย์ ปริญญา กายสิทธิ์ อาจารย์ อภิชิต ศิริชัย นักประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย ได้สันนิษฐานว่าตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงรายนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยเจ้าหลวงสุริยะ เจ้าหลวงเมืองเชียงราย องค์ที่ 3 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ต่อมาภายหลังเจ้าหลวงสุริยะ ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2434 รัฐบาลสยามชะลอการแต่งตั้งเจ้าหลวงเมืองเชียงราย จึงให้เจ้าราชวงศ์บัวระกต (มรกต) รักษาการณ์ ปฏิบัติหน้าที่ในเชิงสัญลักษณ์ของเจ้าหลวง จนถึงแก่อสัญกรรม ตราลัญจกรนี้จึงได้ตกทอดมายังทายาทของเจ้าราชวงศ์บัวระกต คือ ขุนพฤติเพทพัฒนา (เจ้าหนานเหลา) และเจ้ากุยคำ ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา ได้เก็บรักษาตราลัญจกรเมืองเชียงรายนี้สืบทอดตกลงถึงบุตรชาย คือ เจ้าจำนงค์ ณ เชียงใหม่ และในท้ายสุดก็สืบทอดต่อมายังธิดาของท่าน เจ้าสุพรรณี ณ เชียงใหม่ โดยก่อนที่เจ้าสุพรรณี ณ เชียงใหม่จะเดินทางไปพำนักอาศัยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มอบถวายให้ ท่านพระครูวิจิตรนวการโกศล เจ้าอาวาสวัดสะแล่ง อ.ลอง จ.แพร่ ในสมัยนั้นเก็บรักษาไว้
ด้วยความตั้งใจที่จะมอบคืนตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงรายนี้ ของเจ้าจำนงค์ ณ เชียงใหม่ ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีโอกาส เจ้าสุพรรณี ณ เชียงใหม่ จึงได้สานต่อความตั้งใจของเจ้าจำนงค์ ณ เชียงใหม่ผู้เป็นบิดา ที่จะมอบคืนตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงรายนี้คืนกลับคืนสู่เมืองเชียงรายอีกครั้ง เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เห็นและเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงรายนี้ไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2563 จึงได้มอบหมายให้ เจ้าเจือจันทร์ ณ เชียงใหม่ เหลนในเจ้าตาทวด เจ้าหลวงเมืองไชย อดีตเจ้าหลวงเมืองเชียงรายคนสุดท้าย เหลนในเจ้าปู่ทวด เจ้าน้อยมหาเทพ เจ้าราชบุตรในอดีตเจ้าสุริยะเจ้าเมืองเชียงรายคนที่ 3และเหลนในเจ้าลุงทวดเจ้าราชวงศ์บัวระกต ทำหนังสือขอรับตราลัญจกรงาช้างเมืองเชียงรายนี้คืนจากท่านพระครูสีลสังวราภิรัต เจ้าอาวาสวัดสะแล่งองค์ปัจจุบัน ที่ดูแลเก็บรักษาต่อมาจากพระครูวิจิตรนวการโกศล อดีตเจ้าอาวาสอีกทอด เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนมอบตราลัญจกรนี้กลับคืนสู่เชียงรายอีกครั้ง////
พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์