นักวิจัยไทยคว้ารางวัลสมุนไพรต้านโควิดต่อยอดทำกัญชา

แชร์ข่าว

นักวิจัยไทย คว้ารางวัลสมุนไพรต้านโควิด พร้อมต่อยอดทำกัญชาเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งแบบชง หรือผง ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น

วันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ศาลากลาง จ.เชียงราย ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส คนการณ์ “ดร.ออย” นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชศาสตร์, สมุนไพร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษาวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เชียงราย นางกัญญาภัค สุนทรเดชาวัฒน์ วุฒิอาสาฯ พร้อมคณะ ได้เข้าพบนายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เพื่อรายงานถึงผลการประกวดผลิตภัณฑ์ จากสมาคมนักประดิษฐ์หญิง ที่สนับสนุนโดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 ต.ค.2563 พบว่าผลงานชื่อ “การเพิ่มการละลายน้ำและการดูดซึมของสมุนไพรสำหรับการป้องกันโควิด-19” ที่ ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส  ทำการวิจัยและพัฒนา สามารถคว้ารางวัลเหรียญบรอนซ์มาได้สำเร็จ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นการนำส่งสารสกัดสมุนไพรไทยหลายชนิดที่ใช้ในการป้องกันและยับยั้งไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผล ซึ่งสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับการวิจัยและสมุนไพรไทยต่อนานาชาติได้เป็นอันมาก เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์จากนานาชาติส่งเข้าประกวดกว่า 300 รายการ 

นอกจากนี้ปัจจุบันทาง ดร.ออย และคณะก็กำลังร่วมกับวุฒิอาสาธนาคารสมอง จ.เชียงราย แสวงหาความร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจชุมชุนใน จ.เชียงราย เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชกัญชง-กัญชา เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบเนื่องจากได้มีการวิจัยแล้วสามารถใช้เทคโนโลยีนาโนในการสกัดสารจากพืชกัญชง-กัญชา ให้นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและคาดว่าจะนำส่งประกวดในเวทีนานาชาติในเร็วๆ นี้ ซึ่งทาง นายวรวิทย์ได้ชื่นชมในผลงานและมีความยินดีที่คณะนักวิจัยจะเข้ามาทำงานใน จ.เชียงราย จึงได้เชิญให้เป็นที่ปรึกษากรรมการพัฒนาเมืองสมุนไพร จ.เชียงราย ต่อไปด้วย

โดย ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวเกิดจากการศึกษาสมุนไพรไทยประกอบด้วย กระชายขาว ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน พลูคาว และมะขามป้อม แล้วพบว่ามีฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี จึงได้นำสารสกัดมาห่อหุ้มด้วยอนุภาคขนาดนาโน ส่งผลให้สารสมุนไพรที่ได้สามารถละลายและดูดซึมได้มากและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ทั่วไป และเมื่อนำมาใช้จริง โดยรับประทานหลังอาหารเช้าวันละ 2 แคปซูล ก็พบมีคุณสมบัติมากขึ้นถึง 3 ประการคือ 1.ต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 2.เพิ่มภูมิคุ้มกัน และ 3.ต้านการอักเสบ

ทางด้าน นางกัญญาภัค กล่าวว่า จากการนำไปทดลองในตัวอย่างจำนวน 3,000 ราย พบว่าได้ผลเป็นอย่างดีในแง่ของการไม่ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกรณีตัวอย่างครอบครัวชาว จ.สมุทรสาคร รายหนึ่งที่มีสมาชิก 5-6 คน ได้รับไปบริโภคเป็นประจำทุกวันปรากฎว่าทุกคนในครอบครัวไม่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เลยแต่เพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่รายรอบติดเชื้อกันเกือบทั้งหมด ปัจจุบันจึงมีการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ “โคชิงจิ” ซึ่งเป็นชื่อตามประวัติที่เคยไปประกวดผลงานที่ประเทศเกาหลีใต้เพื่อให้เป็นแคปซูลขนาดบรรจุภัณฑ์ละ 30 แคปซูลเพื่อให้เข้าถึงประชาชนแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ในปัจจุบัน ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส ยังได้ทำการวิจัยในพืชกัญชามาได้นาน 6 เดือน โดยสามารถนำนาโนเทคโนโลยีในการกักเก็บสารจากกัญชาทำให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับยาเม็ด แคปซูล เครื่องสำอาง อาหาร ฯลฯ ได้อย่างหลากหลาย โดยอยู่ระหว่างพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ แต่เบื้องต้นจะส่งเสริมด้านการใช้เป็นผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เพราะมีฤทธิ์ในการชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง ต้านการอักเสบ ฯลฯ ปัจจุบันได้ประสานกับรัฐวิสาหกิจชุมชุนใน จ.เชียงราย มีกว่า 200 กลุ่ม ให้สนใจทำการปลูกพืชกัญชง-กัญชา เพื่อนำผลงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งทาง ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส และคณะระบุว่า จะส่งผลดีต่อทั้งระดับต้นน้ำจากเกษตรกรและปลายน้ำคือผู้ใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีต่อไป

สำหรับ ผศ.ดร.ภญ.รัตติรส เคยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในการนำผลงานเข้าประกวดในระดับนานาชาติหลายครั้ง เช่น นำผลิตภัณฑ์ขมิ้นชันที่ละลายได้มากถึง 40,000 เท่า ถือว่ามากที่สุดในโลกจึงสามารถดูดซึมได้ดีจนทำให้ได้รับรางวัลเหรียญทองในงานนิทรรศการความคิดเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมของทวีปยุโรป ในปี 2020 ที่ประเทศโรมาเนีย ได้รับ 3 เหรียญรางวัล จากการประกวดนวัตกรรมสำหรับนักประดิษฐ์ในระดับสากลครั้งที่ 5 ปี 2020 ที่ประเทศแคนาดา เป็นต้น.

พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์

ข่าวอื่นๆ