เปิดแลนด์มาร์คท่องเที่ยวใหม่ วัดฝั่งหมิ่น ศูนย์รวมศิลปะวัฒนธรรม กาดมั่วคัวแลง ภูมิปัญญาพื้นบ้าน “ย่ำขาง” อบสมุนไพร อนาคตเตรียมทำตลาดน้ำและแข่งเรือน้ำกก
“วัดฝั่งหมิ่น” ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 6 ต.ริมกก อ.เมือง จ.ชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดที่มีชื่อเสียงประจำ จ.เชียงราย ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถและมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งมีการก่อสร้างกำแพงและก่อสร้างซุ้มประตูทางเข้าทั้ง 4 ทิศ จนทำให้ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดที่มีความสวยสดงดงาม และได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ.เชียงราย ซึ่งแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวพากันไปเที่ยวชมความสวยงามของวัดและไปร่วมทำบุญกันเป็นจำนวนมาก
โดยพระครูขันติพลาธร เจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่นและเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย กล่าวว่า วัดฝั่งหมิ่นเป็นพื้นที่วัดเก่าแก่กว่า 200 ปี แต่ไม่ปรากฎชัดว่าใครสร้าง จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ว่าอดีตเคยมีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ต่อมาแม่น้ำกกเปลี่ยนทิศทำให้วัดถูกน้ำกัดเซาะมาถึงวัดจึงถูกเรียกว่าวัด “ฝั่งหมิ่น” ภายหลังพบว่ากระแสน้ำไม่ได้พัดเอาเศษอิฐและวัสดุภายในวัดไหลไปตามน้ำ พระภิกษุและชาวบ้านจึงได้ร่วมกันสร้างถาวรวัตถุเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2512
พระครูขันติพลาธร กล่าวว่า เดิมทีบริเวณวัดฝั่งหมิ่นเหมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำอะไรได้ยากลำบาก กระทั่งมีบวชสามเณรภาคฤดูร้อนก็มีวิญญาณเข้าสิงสอบถามทราบว่าเป็นทหารของพ่อขุนเม็งรายบ้าง และเจ้าเมืองสมัยก่อนบ้าง ทำให้จึงต้องมีการบวงสรวงและสร้างศาลให้ 2 ศาล ตั้งแต่นั้นมาทำอะไรก็มีความสำเร็จ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2557 ก็มีการสร้างวิหารแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา และมีการก่อสร้างกำแพงและประตูเทพนิมิตทั้ง 4 ด้าน ล้อมรอบพื้นที่วัดประมาณ 6 ไร่ 1 งาน
พระครูขันติพลาธร กล่าวอีกว่า ประตูใหญ่ทิศเหนือคือประตูอภัย ผู้ที่เข้ามาแล้วอธิษฐานจิตจะอยู่รอดปลอดภัย อยู่ดีมีสุข คิดหรือทำอะไรจะมีความสำเร็จ ปลอดภัยตลอด ประเทศทิศใต้เป็นประตูมังกรคาบสิงโต ใครที่อยากได้หน้าที่การงานตำแหน่งอำนาจบารมี ให้เข้าประตูนี้แล้วอธิษฐานจิต ทิศตะวันตกเป็นซุ้มประตูนกยูง ใครอยากมีโชคลาภ ค้าขายก็เข้าประตูนี้ ส่วนทางทิศตะวันออก เป็นประตูช้างคู่ ใครเข้าประตูนี้อธิษฐานจิตจะได้สมดั่งสิ่งที่คิดหวัง ร่ำรวยเงินทอง
“ปัจจุบันทางเทศบาลนครเชียงรายได้พัฒนาพื้นที่ลำน้ำกก เป็นถนนเพื่อปั่นจักรยานและถนนเลียบแม่น้ำกกเพื่อวิ่งออกกำลังกาย และมีการตัดถนนเส้นใหม่ประมาณ 2 กิโลเมตร เชื่อว่าจะทำให้มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวชมวัดฝั่งหมิ่นมากขึ้น ทางวัดจึงจะจัดให้มีกาดมั่วคัวแลงขึ้นภายในวัด ภายในจะมีการนำอาหาร ขนมการกินพื้นบ้าน พื้นถิ่น ตลอดจนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาจำหน่ายประมาณ 10 ซุ้ม โดยจะจัดทุกวันอาทิตย์ โดยเริ่มตั้งแต่เวลาเช้าไปจนถึงช่วงค่ำ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อบริการให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้มาพักผ่อนและรับประทานอาหาร โดยจะมีดนตรีโพลค์ซอง ดนตรีพื้นบ้านและการฟ้อนรำให้ได้รับชมกันเป็นบางโอกาสด้วย ”
พระครูขันติพลาธร กล่าวด้วยว่า หากกิจกรรมที่จัดขึ้นได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเที่ยวกันมากขึ้น ก็อาจมีการต่อยอดเปิดให้มีตลาดน้ำและการแข่งขันพายเรือ เนื่องจากวัดอยู่ติดกับริมแม่น้ำกกเพื่อให้มีกิจกรรมใหม่ของ จ.เชียงราย รวมไปถึงอาจมีการจัดกฐินและบิณฑบาตรทางน้ำอีกด้วย ซึ่งทางวัดได้หารือกับทางเทศบาลนครเชียงรายพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเรือพายมาให้สำหรับให้ภิกษุและสามเณรฝึกพายเพื่อนำออกบิณฑบาตรทางน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากภายในวัดที่มีการเปิดกาดมั่วคัวแลงบริเวณด้านข้างของวัดฝั่งหมิ่นแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของหอวัฒนธรรมนิทัศน์ เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก จังหวัดเชียงราย มีจำนวน 3 ชั้น โดย ชั้นที่ 1 แสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย รวบรวมบ้านเมือง พ.ศ 1804 ถึง 1839 ชั้นที่ 2 แสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่นำเสนอข้อมูลด้านบ้านพัก ที่อยู่อาศัยวัดในล้านนา สถาปัตยกรรมเชิงสัญลักษณ์ เจดีย์แบบล้านนา องค์ประกอบโครงสร้างสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมร่วมสมัยในเชียงราย พุทธสถานสำคัญในเมืองเชียงราย เครื่องดนตรีและศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนา ตลอดจนเอกสารโบราณ ได้แก่ ใบลาน ศิลาจารึก บันทึกเรื่องต่างๆ รวมทั้งนำเสนอข้อมูลงานหัตถกรรมและงานสล่า แขนงต่างๆ ส่วนชั้นที่้ 3 เป็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินีและสมเด็จย่า
ขณะเดียวกันบริเวณลานอุทยานประวัติศาสตร์เมืองเชียงราย ซึ่งอยู่ด้านหน้าอาคารกลุ่มชุมนุมเก้าผญาเชียงราย ยังได้จัดให้การแสดงภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านแพทย์แผนไทยโบราณ อาทิ การนวดตอกเส้น ย่ำขาง การอบสมุนไพร และการแช่เท้าด้วยสมุนไพร เพื่อการบำบัดและผ่อนคลายให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาเยือน เรียกได้ว่าปัจจุบัน วัดฝั่งหมิ่นเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถสัมผัสทั้งด้านศาสนา ศิลปะ วัฒธนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นแบบครบวงจรกันเลยทีเดียว.