มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดึงอัตลักษณ์ชุมชน 4 จังหวัดท่องเที่ยวภาคเหนือ รองรับการท่องเที่ยว
12 ตุลาคม 2564 รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดี มฟล.เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมแสดงผลิตภัณฑ์บริการเชิงสุขภาพและประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (MFU 4LOCAL FORUM 2021) ที่ห้องคำมอกหลวง อาคารอี-พาร์ค มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย โดยมีชุมชนจำนวน 11 ชุมชนใน 4 จังหวัดภาคเหนือ นำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดง ประกอบด้วย จ.เชียงราย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีไทยวิถียองบ้านสันทางหลวง ต.จันจว้า อ.แม่จัน ศูนย์สมุนไพรบำบัดบ้านม่วงคำ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ท่องเที่ยวชุมชนสุขภาพอาข่าบ้านห้วยส้าน ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบhานน้ำม้า ต.สถาน อ.เชียงของ วิสาหกิจพุทธเกษตรอินทรีย์เฉลิมพระบารมี รัชกาลที่ 9 ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ส่วน จ.พะเยา ได้แก่กลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ปะโอ ต.หย่วน อ.เชียงคำ กลุ่มโบราณสถานเวียงลอ ต.ลอ อ.จุน
จ.แพร่ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ต.ทุ่งโฮ้ง อ.เมือง วิสาหกิจชุมชนปางงุ้นหมู่บ้านสีเขียวท่องเที่ยวสุขใจ ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ และ จ.น่าน ได้แก่กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนห้วยพ่าน ต.เปือ อ.เชียงกลาง และวิสาหกิจชุมชนชมรมแพทย์แผนไทย ต.บ่อสวก อ.เมืองน่าน
โดยแต่ละชุมชนได้นำผลิตภัณฑ์ที่ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มฟล.ไปจัดแสดงอย่างหลาก อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิถีไทยวิถียองบ้านสันทางหลวง นำพืชสมุนไพรพื้นบ้านมาแปรรูปให้เก็บรักษาไว้ได้นาน จัดทำเป็นบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย สามารถใช้เป็นสมุนไพรจากขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกูด ฯลฯ เพื่อดื่มสำหรับสร้างภูมิคุ้มกันจากไวรัสโควิด-19 หรือนำไปเป็นสมุนไพรแช่เท้าเพื่อความผ่อนคลาย แปรรูปข้าวและสมุนไพรเป็นครีมทาผิว ฯลฯ วิสาหกิจพุทธเกษตรอินทรีย์เฉลิมพระบารมี รัชกาลที่ 9 ส่วนต่างๆ ของบัว เช่น เกสรบัว ใบบัว ฯลฯ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรจากบัวและสมุนไพรอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนท่องเที่ยวชุมชนสุขภาพอาข่าบ้านห้วยส้าน นำเสนอผ้าปักชาติพันธุ์อาข่า สมุนไพรพื้นบ้านต่างๆ ที่รวบรวมเป็นตำรับสำหรับป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ฯลฯ
รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือ 4 จังหวัดดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ หลากหลายทางนิเวศน์วิทยาและภูมิปัญญาเป็นอย่างมาก รวมทั้งพื้นที่ยังมีรายได้หลักมาจากภาคการท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นเมื่อประมาณ 2 ปีก่อนทาง มฟล.จึงได้ดำเนินโครงการนี้ขึ้นโดยการสนับสนุนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าไปส่งเสริมชุมชนนำร่องจำนวน 1 ชุมชนดังกล่าวโดยนำการวิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อันเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่แล้วแต่จะนำเอาอัตลักษณ์ออกมาให้ผู้คนได้รับรู้และใช้ประโยชน์ได้ อย่างไรตามช่วงเวลาดังกล่าวมีวิกฤติไวรัสโควิด-19 พอดีทำให้ภาคการท่องเที่ยวซบเซาดังนั้นจึงถือโอกาสใช้ช่วงเวลาในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์รองรับสถานการณ์ที่ทุเลาลงในอนาคต
รศ.ดร.ชยาพร กล่าวอีกว่า สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น ฯลฯ จะมีแหล่งที่เปิดให้นักท่องเที่ยวไปเยือนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำอาหาร ใช้สมุนไพรและบริการผ่อนคลายต่างๆ จนเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับไปเยือนอีกครั้ง ซึ่งกรณีของภาคเหนือโดยเฉพาะ จ.เชียงราย เป็นเมืองที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 8 จังหวัดสมุนไพรของประเทศไทย ส่วนภาคเหนือตอนบนก็อุดมสมบูรณ์ไม่น้อยไปกว่าแหล่งใดๆ ในโลก
“ตัวอย่างกรณีผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงหลายชนิดมีเพียงแห่งเดียวในโลก เพียงแต่ที่ผ่านมามีการนำมาใช้ประโยชน์กันในท้องถิ่นโดยไม่ได้มีการต่อยอด ดังนั้น มฟล.จึงเข้าไปศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยเมื่อมีการเปิดการท่องเที่ยวอีกครั้งก็จะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับการดึงดูดให้กลับไปเยือนอีกครั้งต่อไป ส่วนสมุนไพรและภูมิปัญญาก็ได้รับการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปต่อยอดเองได้ มหาวิทยาลัยยังส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าไปต่อยอดผู้ประกอบการเองได้ ซึ่งการพัฒนาลักษณะนี้ดีกว่าปล่อยให้ทุนข้ามชาติเข้าไปหาผลประโยชน์จากสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย รวมทั้งยังทำให้ชุมชนพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” รศ.ดร.ชยาพร กล่าว
ทางด้าน ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่าเชียงรายและภาคเหนือเป็นเมืองที่มีรายได้หลักจากการท่องเที่ยวดังนั้นเป้าหมายสำคัญคือการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวประทับใจและกลับมาอีกครั้งหลัง โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้เป็นต้นไปนั้นคาดว่าสำหรับ จ.เชียงราย คงจะได้รับอานิสงส์ช่วงเดือน ธ.ค.เป็นต้นไป ดังนั้นการที่ มฟล.ร่วมกับทั้ง 11 ชุมชนดังกล่าวจึงเป็นการเตรียมการที่เหมาะสมเมื่อเปิดประเทศก็สามารถใช้รองรับนักท่องเที่ยวได้เลยโดยเฉพาะแต่ละชุมชนมีความหลากหลายและเป็นอัตลักษณ์ไม่เหมือนกัน จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เกิดการค้นหาและท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืนซึ่งในอนาคต มฟล.ก็มุ่งหวังจะขยายผลไปยังชุมชนอื่นต่อไป
ด้าน ดร.ชลิดา ธนินกุลภาณ์ หัวหน้าส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มฟล.กล่าวว่าการพัฒนาทั้ง 11 ชุมชนเกิดจากการคัดสรรชุมชุนที่มีความเข้มแข็งและมีความมพร้อมก่อน เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จก็จะสร้างเครือข่ายและทำการตลาด โดยให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วมและในช่วงที่มีวิฤติและมีผู้คนตกงานกันมากก็จะทำให้นักศึกษาสามารถนำการพัฒนาไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพได้ต่อไป.