“โมเดลพัฒนาชุมชนโครงการ Local X”  ที่บ้านน้ำม้า เชียงของ

แชร์ข่าว

ททท . จับมือ  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันอาหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดตัว “โมเดลพัฒนาชุมชนโครงการ Local X”  ภายใต้คอนเซปต์ Collaboration จับคู่พาทเนอร์ที่ใช่ทำงานร่วมกับชุมชน สร้างสรรค์ สินค้าท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ  พร้อมคู่ค้าร่วมทำตลาดแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันกับชุมชน

นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)  เปิด โครงการ โลคอล เอกซ์ (Local X) เกิดขึ้นจากแนวคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลการสร้างหุ้นส่วนความสำเร็จ สรรหาพาทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มา Collaborate ร่วมคิดร่วมทำกับชุมชน ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมพัฒนาสินค้าท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ใหม่ ให้ชุมชนไปจนถึงการ operate ดำเนินธุรกิจจริง ๆ รวมทั้งการทำตลาด การขาย  จับมือกันกับชุมชนในฐานะ พาทเนอร์ ทำงานร่วมกันไปตลอดทาง และแบ่งปันประโยชน์ที่เป็นธรรมร่วมกันสำหรับทุกฝ่าย  นี่คือหัวใจของความยั่งยืน ในส่วนของชุมชน ในพื้นที่เชียงราย ชุมชนบ้านน้ำม้า ได้รับการคัดเลือกด้วยเหตุผลที่สำคัญคือเป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้วย mind set และ attitude ที่ดี ทัศนคติที่เปิดกว้างพร้อมเรียนรู้พร้อมพัฒนาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในโครงการฯ นี้ 

ผลลัพธ์ของการทำงานร่วมกับพาทเนอร์มาหลายเดือน จนในที่สุดวันนี้ชุมชนบ้านน้ำม้าได้สินค้าท่องเที่ยวใหม่ ในรูปแบบของ School & Family Outing แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็กประถมศึกษา ซึ่งได้พาทเนอร์ จากโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มาออกแบบกิจกรรม ให้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนได้พาทเนอร์จากสถาบันอาหารมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสุขภาพพร้อมดื่ม ไรซ์นีก้า น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวเหนียว กข.6  ซึ่งเป็นวัตถุดิบคุณภาพดีของชุมชน และยังมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์    (องค์การมหาชน) ได้มาช่วยออกแบบโลโก้ พร้อมบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ จากวันนี้ ก็จะมีพาทเนอร์จากกิจการเพื่อ สังคม ฟายด์ โฟล์ค และ ไฟด์ ฟู้ด ที่มาช่วยประสานในการ operate กิจกรรมท่องเที่ยว และการต่อยอดตลาดผลิตภัณฑ์ต่อไป

นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีหน้าที่สืบสานรักษาและต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืน ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายร่วมกันทำงานกับทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทำคนเดียว หรือต่างคนต่างทำ เพื่อความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การขับเคลื่อนงานส่งเสริมวัฒนธรรมยุคใหม่นี้ ต้องทำให้วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ต่อยอดได้ เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือตลาดใหม่ ๆ ได้ ดังเช่นการพัฒนาชุมชนบ้านน้ำม้าให้เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับเด็ก เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ได้สัมผัสวิถีชีวิตชนบทที่เด็กในเมืองไม่มีโอกาสได้รู้จัก โมเดลนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนสำหรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ในส่วนของการพัฒนาเครื่องดื่มสุขภาพน้ำส้มสายชูหมักจากข้าวเหนียว กข.6 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการต่อยอดยกระดับทุนทางวัฒนธรรมชุมชนโดยใช้เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่

นางชนิดาภา ดวงปัน (คุณวาว) ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวชุมชนบ้านนํ้าม้า  เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านนํ้าม้า ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบติดภูเขา มีลำห้วยนํ้าม้าจากแหล่งภูเขาไหลผ่านชุมชน มีธรรมชาติที่สวยมาก คนในชุมชนส่วนใหญ่นั้นประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีรายได้เสริมจากการเก็บของป่า และอาหารจากธรรมชาติ เช่นหน่อไม้ เห็ด นํ้าผึ้ง รถด่วน อยากเชิญชวนโรงเรียนในเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง  พาเด็กพาเที่ยวชุมชนบ้านนํ้าม้า ขุมทรัพย์แห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กที่แสนมหัศจรรย์ เด็ก ๆ จะได้ได้สัมผัสธรรมชาติ ตะลุยป่าไผ่ ไร่ชา ไขปริศนาวิถีเกษตร มหัศจรรย์แห่งข้าว สนุกกับธรรมชาตินอกห้องเรียนที่เด็ก ๆ จะได้ประสบการณ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่หาไม่ได้จากในรั้วโรงเรียน ได้รู้จักวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ในท้องถิ่น ได้พัฒนาทักษะทางการสื่อสาร สังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นซึ่งล้วนเป็นทักษะแห่งอนาคตทั้งสิ้น

5 กิจกรรมแห่งการเรียนรู้ สำหรับเด็ก

  1. แพนด้าตะลุยทุ่ง – ตามหาความมหัศจรรย์ของต้นไผ่ และทำชาไผ่
  2. อาหารมื้อนี้ฝีมือฉันเอง – หิ้วตะกร้าพากันเดินเข้าสวนเก็บผักมาทำอาหาร
  3. อาหารกลางวันจานเด็ด – เติมพลังกันด้วยอาหารจากฝีมือตัวเอง และเมนูเด็ดจากชุมชน
  4. มหัศจรรย์แห่งข้าว (ฮิมดอย) – สนุกกับการทำกระดาษจากเยื่อฟางข้าว
  5. ไขปริศนาวิถีชาวเกษตร – ลุยสวนเกษตร ห้องเรียนภาคปฏิบัติกลางแจ้ง

ข่าวอื่นๆ