บินเชียงรายคึกคัก ICAO ชงเป็นเจ้าภาพประชุมเอเชีย-แปซิฟิก

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดย นาวาอากาศตรีสมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย แถลงข่าวว่า องค์การการบินพลเรือนระว่างประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ICAO APAC) ได้กำหนดให้ จ.เชียงราย เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม Asia/Pacific Aerodrome Design and Operations Task Faorce ครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-13 ม.ค.2566 ที่จะถึงนี้ ทำให้ทางท่าอากาศยานได้ร่วมกับ เทศบาลนครเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ฯลฯ เตรียมความพร้อมในการจัดการประชุม ณ หอปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกจำนวน 13 ประเทศ ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ ออสตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ รวมจำนวน 82 คน โดยการประชุมจัดขึ้นทุกปีเพื่อทบทวนและหารือเรื่องมาตรฐาน ข้อปฏิบัติ การออกแบบ การจัดการ การก่อสร้าง ฯลฯ ของแต่ละท่าอากาศยานเพื่อร่วมกันพัฒนาและหากที่ใดมีปัญหาสามารถทำเรื่องเพื่อขอผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ปัจจุบันทาง ICAO ได้บรรจุกำหนดการประชุมโดยระบุสถานที่คืออปรัชญารัชกาลที่ 9 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

นาวาอากาศตรีสมชนก กล่าวว่า การจัดประชุมดังกล่าวถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยและ จ.เชียงราย อย่างมาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยว่ามีผู้ที่มีความรู้ความสามารถและสถานที่ก็สามารถจัดการประชุมนานาชาติเช่นนี้ได้ ขณะที่ในปัจจุบันการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก ด้านท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ก็ถือว่าได้มาตรฐาน 1 ใน 6 สนามบิน ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ด้วย ส่วนตนก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะทำงาน Asia/Pacific Aerodrome Design and Operations Task Faorce มาแล้ว 2 สมัยๆ ละ 2 ปีและมีแนวโน้มว่าจะได้ทำหน้าที่ต่อไปอีกจนถึงปี 2567 ด้วย นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวยังจะมีขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศจีนจะมีการผ่อนปรนการเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 เป็นต้นไปด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับความคึกคักในการบินได้อย่างทันท่วงที

“ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ได้ทำการพัฒนารองรับความคึกคักทางการบินมาตั้งแต่ช่วงวิกฤติโควิด-19 เพราะเล็งเห็นความคึกคึกหลังวิกฤติผ่อนคลายลงโดยมีการพัฒนาถนน และกำลังสร้างทางคู่ขนานรันเวย์เพื่อให้เครื่องบินไม่ต้องเลี้ยวกลับหลังลงจอดเทียบรันเวย์ให้แล้วเสร็จในปี 2566 เช่นกัน ย้ายห้องพักวีไอพีไปสร้างใหม่เพื่อลดความแออัด ฯลฯ ทำให้ในปี 2565 นี้พบอัตราการเติบโตจนถึงเดือน ธ.ค.นี้ถึง 77% โดยมีผู้โดยสารไปใช้บริการเฉลี่ยวันละ 6,000-7,000 คน มีเที่ยวบินวันละกว่า 44 เที่ยวบิน จากเดิมในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่มีสูงสุดเพียง 1,200 คน รวมทั้งพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสารให้รองรับได้ถึง 7,000-10,000 คนแล้ว กระนั้นยังไม่มีการบินระหว่างประเทศโดยเครื่องบินที่มาจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องบินไพรเวทเจ็ทส่วนตัว

ดังนั้นคาดว่าหลังการประชุมจะมีการสรุปเนื้อหาและร่วมกันพัฒนาการบินร่วมกัน และจะมีสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีน เกาหลีใต้ ฯลฯ ติดต่อเพื่อขอบินตรงไปยังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต่อไป การประชุมยังทำให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้มีโอกาสชมสถานที่ท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย ทั้งงานเชียงรายดอกไม้งาม ปีที่ 19 ฯลฯ และมีกำหนดการชมการแสดงทางวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นซึ่งจะทำให้เกิดผลดีต่อการท่องเที่ยวอีกด้วย ” ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย กล่าว.

ข่าวอื่นๆ