เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เป็นประธานในพิธีแสดงขีดความสามารถสนามบินเชียงราย(ฝูงบิน 416) ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยมี นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย เรืออากาศเอกนายแพทย์ อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ นายวันชัย จงสุทธานามาณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้แทนชุมชน ประชาชน และนักเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรม กว่า 500 คน
โดยมีการบรรยายสรุปปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนของกองทัพอากาศ การจัดแสดงการใช้อากาศยานในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ การจัดแสดงอากาศยานไร้คนขับหรือ UAV แบบ Aerostar BP จากหน่วยบิน 3021 และเฮลิคอปเตอร์แบบ EC-725 จากหน่วยบิน 2035 รวมทั้งมีการแสดงการบินสาธิตการใช้เครื่องบิน BT-67 จากหน่วยบิน 4611 ในการดับไฟป่า การใช้เฮลิคอปเตอร์แบบ EC-725 จากหน่วยบิน 2033 ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากปฏิบัติการดับไฟป่าในที่สูงชันและยานพาหนะปกติเข้าไปไม่ถึงไปยังโรงพยาบาล นอกจากนี้มีการจัดหน่วยมิตรประชากองทัพอากาศ เช่น ตรวจโรค ตัดผม วัดสายตา แจกแว่นตา พร้อมทั้งมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนให้นักเรียน อุปกรณ์ที่จำเป็นต่อชุมชนใกล้เคียง ฯลฯ
ทั้งนี้ระหว่างกิจกรรมมีการแจกจ่ายเอกสารเนื้อหาและภาพเกี่ยวกับแผนพัฒนาสนามบิน (ฝูงบิน 416) โดยเป็นแผนงานระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งจะมีการสร้างถนนเพื่อเพิ่มยุทธการและการบิน ติดตั้งระบบไฟสัญญาน ไม้กั้นรั้วชั่วคราว ฯลฯ และปี 2567 สร้างเส้นทางวิ่งออกกำลังกายทางทิศเหนือจรดทิศใต้ ซึ่งอยู่นอกรันเวย์ในปัจจุบัน และสร้างถนนอ้อมรันเวย์ทางทิศเหนือพร้อมไหล่ทาง จากนั้นในปี 2568 จะปรับปรุงรันเวย์ ทางขับและลานจอดอากาศยานทั้งหมด สร้างรั้วแนวกั้นพื้นที่การบินต่อไป
พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันอันเกิดจากไฟป่าได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ทางกองทัพอากาศ ได้สนับสนุนการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะการดับไฟป่า โดยเฉพาะการใช้ UAV ตรวจหาจุดความร้อนหรือ Hot Spot โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กองบิน 41 ตั้งอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ แต่ปรากฎว่าเมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ จ.เชียงราย และใกล้เคียงไม่สามารถส่งอากาศยานทั้งแบบมีคนขับและ UAV เข้าไปช่วยเหลือได้ เพราะสนามบินยังไม่ได้รับการพัฒนารวมทั้งมีความแออัดของอากาศยานและห่างไกล หรือแม้แต่จะนำเฮลิคอปเตอร์จากพื้นทีอื่นไปยังฝูงบิน 416 บางครั้งต้องใช้เวลาจัดการพื้นที่ลงจอดนานถึง 1 วัน ดังนั้นทางกองทัพอากาศจึงมีแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวเพื่อให้สามารถจัดอากาศยานเข้าไปสนับสนุนพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึงการส่งผู้ประสบเหตุจากการดับไฟป่าและอื่นๆ ไปส่งที่โรงพยาบาลตามข้อตกลงหรือ MOU ที่กองทัพได้ทำกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
“ยืนยันว่าแผนการพัฒนาฯ จะค่อยเป็นค่อยไปและจะพยายามไม่ให้ส่งผลกระทบกับประชาชนที่เคยเข้าไปใช้ประโยชน์ในฝูงบิน 416 โดยจะมีการสร้างถนนทางทิศเหนือและทางออกกำลังกายแห่งใหม่สำหรับผู้ที่เคยไปออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ส่วนทางรถที่เคยแล่นผ่านตัวสนามบินไปมาก็จะยังไม่ปิดโดยจะสร้างแนวรั้วส่วนขยายให้เสร็จก่อนเมื่อแล้วเสร็จจึงปิดและให้มีการใช้สัญญาบนช่องทางให้ได้อย่างไม่ติดขัดต่อไป ทั้งนี้ทางกองทัพอากาศยืนยันว่าการพัฒนาดังกล่าวจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป” พล.อ.อ.อลงกรณ์ กล่าว.