ขยายทางหลวง 4 ช่องจราจร ดอกคำใต้-เทิง

แชร์ข่าว

กรมทางหลวงขยายทางหลวงหมายเลข 1021 สาย อ.ดอกคำใต้ – อ.เทิง ตอน อ.เชียงคำ จ.พะเยา – อ.เทิง จ.เชียงราย ระยะทาง 37 กม. เป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จ เชื่อมโยงการคมนาคม รองรับเส้นทางสายเศรษกิจ R3A

วันที่ 12 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1021 สาย อ.ดอกคำใต้ – อ.เทิง ตอน อ.เชียงคำ จ.พะเยา – อ.เทิง จ.เชียงราย ระหว่าง กม.59+200 – กม.100+019 ระยะทางรวม 37 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจรแล้วเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ใช้เส้นทาง รองรับการคมนาคมโลจิสติกส์พื้นที่ชายแดนไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว – สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 

ทางหลวงหมายเลข 1021 สาย อำเภอดอกคำใต้ – อำเภอเทิง เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 1021  สาย อ.ดอกคำใต้ – อ.เทิง เริ่มต้นจากสี่แยกแม่ต๋ำ (ทางหลวงหมายเลข 1) บรรจบทางหลวงหมายเลข 1020 บริเวณ อ.เทิง จ.เชียงราย ระยะทางรวมประมาณ 100.157 กิโลเมตร ทางหลวงสายนี้เป็นเส้นทางในการเดินทางสู่สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย) เพื่อเชื่อมต่อไปยังเส้นทาง R3A มีแนวเส้นทางพาดผ่านสภาพภูมิประเทศที่เป็นแนวเขาสลับกันและคดเคี้ยวไปมาทำให้ประชาชน ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย 

กรมทางหลวงเล็งเห็นความสำคัญ จึงดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1021 สาย อ.ดอกคำใต้ – อ.เทิง ตอน อ.เชียงคำ – อ.เทิง โดยจุดเริ่มต้นโครงการฯ อยู่ในพื้นที่ อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา และจุดสิ้นสุดอยู่ที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ระหว่าง กม.59+200 – กม.100+019 ระยะทางรวม 37 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอน 1 ก่อสร้างเป็นช่วง ๆ ช่วง กม.59+200 – กม.60+700, กม.62+500 – กม.70+200 และกม.72+200 – กม.75+000 ระยะทางรวม 12 กิโลเมตร ตอน 2 ระหว่าง กม.75+000 – กม.86+000 ระยะทางรวม 11 กิโลเมตร และตอน 3 ระหว่าง กม.86+000 – กม.100+019 ระยะทางรวม 14.019 กิโลเมตร 

ก่อสร้างขยายจากขนาด 2 ช่องจราจรเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร (ไปกลับข้างละ 2 ช่องจราจร) ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างนอกกว้างข้างละ 2.50 ด้านในกว้าง 1.50 เมตร มีเกาะกลางแบบยกและแบริเออร์คอนกรีต รวมงานขยายและก่อสร้างสะพานคอนกรีต สร้างศาลาทางหลวง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง งบประมาณ 2,047.84 ล้านบาท 

โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ เส้นทางสายนี้จะเป็นอีกเส้นทางที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการค้าที่สำคัญระหว่างคผู้ประกอบการและแหล่งผลิตสินค้าทั้งภาคการเกษตร  ภาคบริการโลจิสติกส์ และการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางธุรกิจการค้าใหม่ๆ ส่งเสริมการลงทุนแถบพื้นที่ชายแดน พร้อมรองรับการเดินทางเส้นทาง R3A และโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย – สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว – สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)…

ที่มา : กรมทางหลวง

ข่าวอื่นๆ