วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับศูนย์วิจัยสังคมอนุภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดสัมมนาเชิงปฎิบัติการเครือข่ายนักวิชาการอนุลุ่มแม่น้ำโขง ขึ้นที่โรงแรมอิมพิเรียล โกลเด้น ไทรแองเกิล รีสอร์ท อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 2-5 พฤศจิกายน 2566 โดยมี ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และนายดิ๊ก คัสติน (Dick Custin) ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ นักอนุรักษ์ ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมประมาณ 100 คน
ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้นักวิชาการไทยได้มีส่วนร่วมและแบ่งปันข้อมูลงานวิจัยเรื่องการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ และความท้าทายด้านการบริหารจัดการน้ำ-พลังงานและความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นในลุ่มแม่น้ำโขง อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการไทยหลากหลายสาขาวิชาได้ร่วมแก้ไขปัญหาและร่วมทำงานวิจัยในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ตลอดจนพัฒนาข้อเสนอการวิจัยร่วมกันระหว่างไทย-สหรัฐฯ ในการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาบนพื้นฐานความรู้และเป็นแนวทางให้แก่ Mekong Academic Consortium (MAC) และรัฐบาลในการวางนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดย ผศ. ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันอุดมศึกษาให้สนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัย ทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยได้มีการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับงานวิจัยที่หลากหลายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการจัดการน้ำ จัดการขยะ รวมไปถึงการดำเนินการด้านความเป็นอยู่ของคน ตลอดจนการศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมในกรอบจีเอ็มเอส ไทย เมียนมา ลาว ด้านสุขภาพและโรคติดต่อต่างๆ ข้ามพรมแดนด้วย ซึ่งในอนาคตก็จะยังเน้นพันธนกิจเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านสุขภาวะ ซึ่งการสัมนาครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาเหล่าด้านต่างๆในลุ่มแม่น้ำโขงมีความยั่งยืนในอนาคต
ทางด้าน ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันจากคณาจารย์หลายมหาวิทยาลัยและนักวิชาการต่างประเทศ ก่อนหน้านี้มีการเวิร์คชอป 10 ครั้ง 10 ประเด็นตั้งแต่ข้อถกเถียงเรื่องเขื่อน เรื่องกฎหมาย เรื่องผู้หญิง เรื่องการรื้อเขื่อนทิ้ง ซึ่งสหรัฐฯ ดำเนินการไปแล้วไม่ใช่แค่เขื่อนเล็ก แต่เขื่อนใหญ่ด้วย นักวิชาการสร้างเครือข่ายทำงานร่วมกันโดยใช้ความรู้ข้ามศาสตร์ การร่วมมือกันของเครือข่ายกับนักวิชาการอเมริกาจะเกิดพลังทางวิชาการเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาวิกกฤตแม่น้ำโขง
ด้าน ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การรวมตัวของนักวิชาการอาจตื่นต้วช้าไป จากที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนามา 60 ปี แต่เพิ่งจะมาพูดถึงเรื่องความสำคัญ ความซับซ้อน ความจำเป็นในมิติต่างๆ ซึ่งวิทยาศาสตร์ และความรู้ทางเทคนิคมีอำนาจนำในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและกำหนดนโยบายของประเทศในภูมิภาค การพูดเรื่องความร่วมมือและผลกระทบมีโอกาสเหลืออยู่น้อย แต่เราพยายามไขว่คว้าว่าอนาคตข้างหน้าเราไปทางไหน และยึดอะไรเป็นตัวตั้ง จะยึดธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง หรือให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งหากยึดอย่างใดอย่างหนึ่งก็คงไปไม่รอด จะต้องหาจุดสมดุลย์ให้ทั้งสองทางไปด้วยกันได้
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการแห่งประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมมนาเรื่อง “นโยบายและมโนทัศน์แห่งอนาคตของแม่น้ำโขง”ว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงมาก แต่การศึกษากลับชี้ไม่ได้ว่าปลาหายไปไหน และมีปลาเหลืออยู่กี่ชนิด ความหวังคือเราไม่ต้องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง หรือไม่อยากให้สร้างเพิ่ม ทุกวันนี้แม่น้ำโขงไม่มีต้นไคร้อีกแล้ว ขณะที่แม่น้ำสาละวินยังมีต้นไคร้มากมาย แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าหายไปไหน ถือว่าเป็นความวิบัติของแม่น้ำ และการพูดถึงแม่น้ำโขงก็ต้องรวมไปถึงน้ำสาขาด้วย ขณะนี้มีโครงการผันน้ำ โขง เลย ชี มูน นักการเมืองแทบทุกคนในอีสานต่างตอบรับหมด อยากให้นักวิชาการทำงานขับเคลื่อนควบคู่กับประชาชน
“บทบาท สทนช.ควรอยู่ตรงกลาง ไม่ใช่ไปอยู่กับผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อน ถ้าวางตัวไม่เป็นกลาง กระบวนการมีส่วนร่วมจะไม่เกิดขึ้น ผมอยากเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมมองเรื่องรักษาผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่ต้องเข้าร่วมเพราะต้องการให้ครบกระบวนการ”นายหาญณรงค์ กล่าว
นายดิ๊ก คัสติน (Dick Custin) ที่ปรึกษาฝ่ายสื่อมวลชนและวัฒนธรรม สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวว่า สหรัฐฯสนับสนุนกิจกรรมของประชาชนและคนท้องถิ่น เรายังได้สนับสนุนการทำเวิคช็อปสถานบันที่ให้การศึกษาประชาชนในพื้นที่แม่น้ำโขง และสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงสนับสนุนสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อให้ทำงานร่วมกัน และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เพื่อการจัดการยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนการวิจัยแม่น้ำโขงเพื่อรับมือกับสถานการณ์
ทั้งนี้ความร่วมมือในลุ่มแม่น้ำโขงหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) แสดงถึงแนวทางการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดการปัญหาความท้าทายข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีหน่วยงานและกระทรวงของสหรัฐฯ กว่า 14 หน่วยงาน รวมถึงโครงการต่างๆ กว่า 50 โครงการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตั้งแต่ปี 2552 สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในลุ่มน้ำโขงภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ รวมมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่ของเงินลงทุนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศไทย.