มฟล. พัฒนาคนรับเศรษฐกิจ-สังคม นำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย และ นวัตกรรม

แชร์ข่าว

วันที่ 16 พ.ย.2566 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดกิจกรรม 25 ปี แม่ฟ้าหลวงวิชาการและ MFU Innovation 2023 โดยมี ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นประธานในพิธีเปิด และ ผศ.ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม กิจกรรมมีการนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้และมอบรางวัลให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการและหน่วยงานในเครือข่าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสมหาวิทยาลัยครบรอบ 25 ปี และเพื่อแสดงให้ถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินงานยึดตามพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนคริทราบรมราชชนนี ‘ปลูกป่า สร้างคน’ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งการธำรงไว้ซึ่งประเพณีและศิลปวัฒนธรรมที่ดีงาม สำหรับในปีที่ 25 นี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสู่ “ความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน”

โดยมหาวิทยาลัยจะมุ่งเป้าที่จะขับเคลื่อนศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็น ศูนย์กลางสุขภาพแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งในปัจจุบันนับเป็นศูนย์การแพทย์ที่เปิดให้บริการแบบครบวงจร เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหาร ศูนย์เคมีบำบัด ศูนย์จักษุ ศูนย์การผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์มะเร็งเต้านม ศูนย์ตรวจสุขภาพ ศูนย์ไตเทียม ศูนย์โรคผิวหนัง ศูนย์ความงามและชะลอวัย เพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังเปิดให้บริการโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย-จีน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เน้นการตรวจรักษาด้วยแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน กายภาพบำบัดแบบองค์รวม คลินิกผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย รวมถึงศูนย์การแพทย์ รวมถึงศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังได้ผนึกกำลังกับภาครัฐในจังหวัดเชียงราย ผลักดันให้เชียงรายเป็น ‘เชียงรายเมืองสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City)’ โดยมีสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ทั้ง 5 สำนักวิชา สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ตลอดจนผลิตบัณฑิตด้านการจัดการอุตสาหกรรมบริการ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ

นอกจากนี้ ยังมุ่งที่จะพัฒนากำลังคนเพื่ออนาคต จากจุดเริ่มต้นที่เปิดรับนักศึกษาเข้าเรียนใน 2 สำนักวิชา คือเทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีนักศึกษาจำนวน 62 คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีนักศึกษากว่า 15,906 คน และมีนักศึกษาต่างชาติจากทวีปต่าง ๆ ทั่วโลกเข้าศึกษต่อ โดยเปิดหลักสูตรการเรียนการสอน 15 สำนักวิชา ได้แก่ การจัดการ นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ นวัตกรรมสังคม จีนวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง อุตสาหกรรมเกษตร วิทยาศาสตร์สุขภาพ พยาบาลศาสตร์ เวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และการแพทย์บูรณาการ รวมถึงมีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ซึ่งตลอด 25 ปีมีผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้วกว่า 38,000 คน กระจายทำงานอยู่ทั้งในภาครัฐ เอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการพัฒนากำลังคนเพื่ออนาคตนี้ จะทำให้มหาวิทยาลัยมุ่งไปสู่การเป็น”The University for Well-being and Sustainable Future” หรือความเป็นอยู่ที่ดีและอนาคตที่ยั่งยืน เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มี Growth mindset, Life-long learners, Well-being skills เนื่องจากโลกที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกผัน ต้องการกำลังคนที่พร้อมเผชิญความเปลี่ยนแปลง โดยมีกรอบความคิดแบบเติบโตที่ต้องมีความเชื่อว่า ความสามารถหรือศักยภาพพัฒนาได้ และคนที่จะเท่าทันความเปลี่ยนแปลงจะต้องหมั่นเพิ่มพูนความรู้หรือทักษะต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องหรือเรียกว่าเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต และต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ

อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวด้วยว่า สำหรับการจัดงานแม่ฟ้าหลวงวิชาการ MFU INNOVATION DAY 2023 ภายใต้แนวคิด สมุนไพรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ในครั้งนี้ นอกจากเป็นการฉลอง 25 ปีของการก่อตั้งแล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องการที่จะนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการส่งเสริมเกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ของคณาจารย์และนักศึกษาออกสู่สายตาของประชาชนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสถาบันอุดมศึกษาแห่งนี้ที่ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาศักยภาพ และเป็นมหาวิทยาลัยที่พร้อมจะช่วยเหลือและสนับสนุนความเป็นประชาชนในท้องถิ่น

โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีผลงานโดดเด่นทั้งงานวิชาการ วิจัยและนวัตกรรม ด้านวิชาการมีการผลักดันหลักสูตรให้ไปสู่ระดับสากลมาแล้วหลายหลักสูตร ทั้งมาตรฐาน AUN-QA และ EdPEx ในด้านผลงานวิจัย มีผลงานตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติจำนวนกว่า 4,000 เรื่อง และมีการอ้างอิงผลงานมากถึงเกือบ 80,000 ครั้ง มีงานวิชาการ วิจัยและนวัตกรรมที่ร่วมมือทั้งในระดับชาติและนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ส่วนในด้านทรัพย์สินทางปัญญา มีการยื่นขอรับความคุ้มครองมากกว่า 300 ผลงาน และเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ จำนวน 73 สัญญา โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นการใช้ประโยชน์ในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ซึ่งสอดคล้องกับความเชี่ยวชาญและความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยมุ่งที่จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีไปเชื่อมต่อภาคเอกชนให้สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด โดยปัจจุบันมี SMEs ที่เข้ามาใช้บริการของมหาวิทยาลัยในรูปแบบต่างๆ ไม่น้อยกว่า 2,500 ราย รวมทั้งมีภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาร่วมพัฒนาวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมไม่ต่ำกว่า 10 ราย

สำหรับผลงานไฮไลท์จะมีการจัดแสดงนิทรรศการจากศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยด้านเชื้อรา ที่ได้ค้นพบเชื้อราและเห็ดชนิดใหม่มากกว่า 800 ชนิด มีการเก็บรักษาสายพันธุ์เชื้อเห็ดราในคลังสายพันธุ์เห็ดราไว้มากกว่า 20,000 สายพันธุ์ มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจำนวนกว่า 2,000 เรื่อง และจากความสำเร็จในครั้งนี้ กระทรวงอว. ได้เล็งเห็นถึงจุดแข็งและการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัย ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณผ่าน “โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University System)” และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยด้านเห็ดราขยายผลไปสู่มิติต่าง ๆ ภายใต้กรอบ FMFC ทั้งด้านการแพทย์ อาหาร เครื่องสำอาง อีก 5 โครงการย่อย
1.การพัฒนาต่อยอดและยกระดับความเข็มแข็งของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา หัวหน้าโครงการ Adjunct Professor Dr. Kevin D. Hyde
2.การพัฒนาวัสดุห้ามเลือดจากไคโตซานเห็ดผสมสารออกฤทธิ์จากสมุนไพร หัวหน้าโครงการ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สิทธิพร บุณยนิตย์
3.การพัฒนาเนื้อบดเทียมจากเห็ดและการประยุกต์ใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ในผลิตภัณฑ์ไส้อั่วเพื่อสุขภาพ หัวหน้าโครงการ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรจน์ รอดคืน
4.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดแผ่นกรอบโปรตีนสูงเสริมใยอาหารเพื่อสุขภาพ หัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พันธ์สิริ สุทธิลักษณ์
5.การใช้ประโยชน์เห็ดราสายพันธุ์ เพื่อเป็นสารออกฤทธิ์ประสิทธิภาพสูงในเครื่องสำอางและเวชสำอาง หัวหน้าโครงการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุพงษ์ ใจวุฒิ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ “มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรม” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปะศาสตร์ และคณะ เป็นผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนให้จังหวัดเชียงรายได้รับการประกาศรับรองจากยูเนสโกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ ด้านการออกแบบของยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network Secretariat has designated Chiang Rai – Thailand’s representative as an official member of the UNESCO Creative Cities Network for the field of Design.) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นนักวิจัยท่านแรกที่ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมจนได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) 3 ปีซ้อน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และยังแสดงให้เห็นถึงมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเสริมและร่วมมือกับหน่วยงานราชการในพื้นที่

ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ แบ่งออกเป็น นิทรรศการแสดงผลงานวิจัยด้านนวัตกรรม ที่ออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ ผลงาน นิทรรศการ Hall of FAME นิทรรศการของ 15 สำนักวิชา นิทรรศการทุนทางวัฒนธรรม นิทรรศการผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์จากโครงการต่าง ๆ กิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาโกโกจากธรมชาติสู่ผลิตภัณฑ์ความงานและการบำรุงผิว กิจกรรมการเสวนา หัวข้อ “บทบาทของสมุนไพรไทยต่อเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน” รวมถึงยังจัดให้มีทีมที่ปรึกษาด้านธุรกิจ บริการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการที่กำลังประสบปัญหาด้านธุรกิจอีกด้วย

ข่าวอื่นๆ