วันที่ 29 มกราคม 2567 ที่ว่าการอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นางกฤษติกา อุดปิน แกนนำกลุ่มชาวบ้าน พร้อมด้วยชาวบ้านที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินอีกกว่า 300 คน ในโครงการรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ได้ชูป้ายเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม ในการพิจารณาการเวนคืนที่ดิน ที่มีการพิจารณาค่าเวนคืนที่เหมาะสม จากนั้นได้เข้าร่วมประชุม กับทาง นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 และ ส.ส.เชียงราย พร้อมผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท) นายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเชียงของ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย ชี้แจงกับประชาชนที่ไม่พอใจค่าเวนคืนโครงการการรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยมี ประชาชนเข้ารับฟังกว่า 300 คน จากพื้นที่ ต.ห้วยซ้อ ต.สถาน ต.ศรีดอนชัย ต.เวียง อ.เชียงของ และจากพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย จ.พะเยา บางส่วน โดยชาวบ้านได้ยื่นคำร้องขอให้ทบทวนการจ่ายค่าทดแทนการเวณคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างของการก่อสร้างรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ไปยัง ส.ส.เชียงราย และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
นางกฤษติกา อุดปิน แกนนำกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า ในการเดินทางมาเรียกร้องครั้งนี้ เพื่อขอความเป็นธรรมให้กับตนเองและกลุ่มชาวบ้าน เนื่องจากการเวนคืนค่าที่ดินในโครงการฯนั้นไม่เท่าเทียมกัน เพราะในส่วนของกลุ่มผู้เดือดร้อนนั้นได้รับผลกระทบเพราะ หากเซ็นสัญญาไปแล้วหากได้คืนเงินที่มีราคาที่ถูก จะเอาเงินส่วนไหนไปซื้อที่แห่งใหม่ ไปซื้อนาข้าวมาทำกินอีก จึงอยากเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วย ซึ่งหากแรกได้ก็อยากให้ทางภาครัฐ หาที่ทำกินให้ใหม่จะดีกว่าได้เงินในราคาที่จำนวนน้อย
นายเพิ่ม กรรณิการ์ ผู้แทนชาวบ้าน กล่าวว่า ชาวบ้านที่มาร้องด้วยความไม่พอใจที่ราคาการประเมินต่ำมาก และหากจะให้อุธรณ์จะเอาข้อมูลไหนมาอุธรณ์ บางคนอยู่บนดอย บางคนมีที่เป็น สปก. จะเอาอะไรมาอ้างอิง ราคาที่ประเมินเป็นราคาโฉนด หลายคนได้แค่หลักพันบาท ที่ทำกินที่ทำมากันนานชดเชยหลักหมื่น ถ้าอุธรณ์ไปก็ตกอยู่ในที่ตระกร้ารัฐมนตรี คนที่ทำได้มีทนายอาสามาช่วย ชาวบ้านจะไปเอาเอกสารที่ไหน จึงขอให้คณะกรรมการประเมินราคา และ รฟท.ทบทวนราคาใหม่ ขออย่าต้องให้ชาวบ้านต้องอุธรณ์ และต้องมีค่าใช้จ่ายหากต้องไปฟ้องศาลปกครอง ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนจ่าย
นางพิศมัย ชัยสิทธิ์ เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน กล่าวว่า ตนเป็นชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องกฎหมาย รู้แต่ว่าราคาที่ดินที่ติดกันในการประเมินการเวนคืนเพื่อสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าด่านพรมแดนเชียงของ ราคา สปก.อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านต่อไร่ โฉนด 2.5-3.5 ล้านบาท แต่รฟท.แจ้งราคา 4 แสนบาทต่อไร่ ไม่สามารถซื้อมาแทนได้ในราคาปัจจุบัน จึงเรียกร้องให้ รฟท.จัดที่ดินมาทดแทนให้หรือประเมินราคาที่ดินใหม่
อย่างไรก็ตาม นางธนพร ปาละ ผู้แทนชาวบ้าน กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลห้วยซ้อกลุ่มชาวบ้านที่ถูกเวณคืนหลายรายจะยื่นอุธรณ์ครั้งนี้ และได้ตั้งตัวแทนจัดการเรื่องเอกสารเพื่อยื่นอุธรณ์เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แต่เป็นพื้นที่ทำกินมาหลายรุ่นแต่ละรายแต่ละครอบครัวเป็นแปลงเล็กๆ เป็นที่ทำกิน และชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เข้าใจที่ไม่สามารถดำเนินการเองได้ โดยจะรับเรื่องและช่วยชาวบ้านยื่นอุธรณ์
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 กล่าวว่า หลังได้รับการร้องจากประชาชนในพื้นที่ ตนได้ประสานการรถไฟฯ นายอำเภอเชียงของ ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด มาชี้แจงและรับฟังข้อร้องเรียนของประชาชนในพื้นที่อำเภอเชียงของ เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังกระบวนการเวนคืนจากผู้จัดการโครงการและฝ่ายกฎหมาย โดยให้ชาวบ้านได้รับฟังข้อมูลจากทุกฝ่ายให้จบในรอบเดียว และถ้าเจ้าของที่ดินยังไม่พอใจ สามารถดำเนินการอุธรณ์ภายใน 90 วันหลังการเซ็นสัญญาและรับเงินจาก รฟท. ไปยังกระทรวงคมนาคมที่ใช้เวลา 180 วัน หากยังไม่พอใจราคาเวนคืนสามารถดำเนินการฟ้องศาลปกครองได้เป็นทางออกต่อไป โดยได้มอบหมายให้ผู้ช่วย ส.ส.และผู้นำท้องถิ่น และนิติกรช่วยดูแลชาวบ้าน
นายปัฐตพงษ์ บุญแก้ว วิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง รฟท.กล่าวว่า ขณะนี้ประกาศเวนคืนทั้งเส้นทาง 634 แปลง ขณะนี้ได้ดำเนินการเซ็นสัญญาเวนคืน 550 แปลง คิดเป็น 87% ยังคงเหลือ 84 แปลง ส่วนการดำเนินการก่อสร้างการรถไฟขณะนี้ รฟท.ดำเนินการได้เร็วกว่าแผนงานปกติ 1 %
ขบวนการการเวนคืนอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.เวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2562 และเงื่อนไข เวลา ตัวบทกฎหมายที่เขียนให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐปฎิบัติภายใต้ กฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งมีความแตกต่าง การออกแบบในช่องต่าง ๆ อย่างเป็นกลางและความยุติธรรมเป็นส่วน ๆ โดย รฟท. จะรับคำร้องพิจารณาทั้งปัญหาเฉพาะบุคคล ที่มีประเด็นแตกต่างกันเป็นรายบุคคล และการพิจาณาอัตราค่าเวนคืนภาพรวม เฉลี่ยการให้ราคาเวณคืนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.56 เท่าของราคาประเมินของกรมธนารักษ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมประชาชนยังมีคำถามถึงวิธีการคิดราคาที่มีความเหลื่อมล้ำทั้งการเปรียบเทียบกับการเวนคืนกรมทางหลวงที่มีการสร้างเส้นทางบายพาสเชียงของ และการเปรียบเทียบราคาที่เคยเวนคืนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.เวนคืนฯ ปี 2530 ที่สามารถนำราคาประกาศขายมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินราคาที่ดินได้ ทำให้ราคาในการเวนคืนสูง ขณะที่ราคาประเมิณการเวนคืนทางรถไฟฯ อ้างอิงราคาในปี 2559-2562 ซึ่งในอำเภอเชียงของมีการซื้อขายที่ดินน้อยมาก และแปลงที่มีการแจ้งราคาซื้อขายต่อที่ดินต่ำกว่าความเป็นจริงมากทำให้ราคาประเมินออกมาต่ำมากกว่าราคาตลาดที่ซื้อขายกันในเวลานี้
โดย ที่ประชุม มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นควรให้เวนคืนที่ดินมีโฉนด ราคาไร่ละ 6 ล้าน บาท เห็นควรให้เวนคืนพื้นที่ สปก.หรือที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ราคาไร่ละ 5 ล้านบาท.