วันที่ 17 สิงหาคม 2567 นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย นางสาวการะเกด นันทศรีนนท์ ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันเปิด เทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก “สวรรค์ของเมืองกาแฟ” ณ ลานกิจกรรมชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2567
โดยภายในงานมีการออกบูธประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพ การเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกาแฟ/เกษตรกรและนักธุรกิจที่สนใจ การจัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่ได้รับการพัฒนา พร้อมทั้งกิจกรรม workshop สาธิตให้ความรู้เกี่ยวกับกาแฟ เช่น การคัดเมล็ดกาแฟตามมาตราฐานสมาคมกาแฟ การชิมกาแฟสำหรับคอกาแฟและนักท่องเที่ยว การทำสครับกาแฟ ชิมกาแฟจากแหล่งปลูกต่าง ๆ ของ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 พร้อมกิจกรรมการแสดงบนเวที การร่วมสนุกเล่นกมส์ ลุ้นรับของรางวัล
นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เทศกาลกาแฟล้านนาตะวันออก Eastern Lanana Coffee Fest 2024 “สวรรค์ของเมืองกาแฟ” จัดขึ้นตามนโยบายและทิศทางการพัฒนาของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ตามประเด็นการพัฒนา ส่งเสริมการผลิตและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามโครงการเพิ่มขีดในการแข่งขันการเกษตรระดับภูมิภาค กิจกรรมหลัก ส่งเสริมช่องทางการตลาดของสินค้าเกษตรอินทรีย์ กิจกรรมย่อย ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์กาแฟ และพัฒนาเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม สร้างตราสินค้ากาแฟ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ และนำเสนอกาแฟคุณภาพ ของเกษตรกรที่ได้รับการพัฒนาต่อผู้บริโภคและเชื่อมโยงตลาดเมล็ดกาแฟคุณภาพ
ซึ่งสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงราย ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกันดำเนินการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จำนวน 27 ราย จาก 4 จังหวัด โดยการอบรม ให้ความรู้ด้านการทดสอบรสชาติของกาแฟ หรือ cupping และประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟโดย Q grader ตามมาตรฐานการรับรองของสมาคมกาแฟพิเศษแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ SCAA พร้อมทั้งแนะนำให้เกษตรกรแบ่งผลผลิตอย่างน้อย ร้อยละ 10 มาผลิตเป็นกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งปกติเกษตรกรที่ปลูกกาแฟอินทรีย์ส่วนใหญ่จะจำหน่ายเป็นแบบเชอรี่ ในราคา 29-40 บาท/กก.
หากมีการผลิตแบบประณีตยกระดับเป็นกาแฟพิเศษแล้วจะสามารถเพิ่มมูลค่าขึ้นได้มากกว่า 1,000 บาท/กก. นอกจากการอบรมให้ความรู้ ประเมินคุณภาพเมล็ดกาแฟแล้ว ยังได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสม และสร้างตราสินค้า พร้อมทั้งนำเสนอกาแฟคุณภาพให้แก่ผู้บริโภค
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การออกบูธประชาสัมพันธ์ จัดแสดง และจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟคุณภาพของจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน และบูธของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากาแฟ รวม 30 บูธ การเจรจาธุรกิจ และมีกิจกรรม workshop สาธิตให้ความรู้ด้านกาแฟ การทำสครับกาแฟ เทคนิคการชงกาแฟให้ได้รสชาติที่ดี และชิมกาแฟคุณภาพจากเกษตรกรผู้ปลูกที่คัดสรรมาจาก 4 จังหวัด ที่จะสลับสับเปลี่ยนมาให้ผู้ร่วมงานได้ชิมรสชาติกันทุกวัน พร้อมกิจกรรมการแสดงดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และการร่วมสุนกเล่นเกมส์รับของรางวัล.