เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณลานหน้าถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง–ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) นายสมศักดิ์ เจียมสงวนวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) พร้อมด้วยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่น อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินผู้ชำนาญด้านไม้ อาจารย์สราวุฒิ คำมูลชัย ศิลปินช่างปั้นผู้ปั้นรูปปั้นจ่าแซม พร้อมศิลปินชาวเชียงราย ได้ประกอบพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขอก่อสร้างศาลาพิพิธภัณฑ์ และรูปปั้นนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือหรือหน่วยซีลเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2561 จนได้รับการช่วยเหลือออกมาจนหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า อาจารย์เฉลิมชัย นายธัญญา รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ และศิลปิน ได้ร่วมกันนำดอกไม้ธูปเทียนกล่าวขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงอย่างเรียบง่าย ก่อนจะจัดวางผังด้วยการปักไม้และขึงด้วยเชือกตามรูปแบบแปลนอาคารก่อสร้างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 อาคาร คือ อาคารหลักและห้องน้ำด้านหลัง และตรงจุดที่จะตั้งรูปปั้นจ่าแซมด้านหน้าศาลาพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ก่อนจะพากันโปรยปูนขาวตามจุดเสาก่อสร้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้คณะช่างได้เข้าไปก่อสร้างตามขั้นตอนต่อไป
โดยอาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจมากที่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ช่วยเหลือเร่งรัดให้สามารถเข้ามาก่อสร้างอาคารและงานปฏิมากรรมภายในบริเวณถ้ำหลวงได้อย่างรวดเร็ว โดยอาคารจะจัดแสดงภาพวาดความยาวประมาณ 13 เมตรกว้าง 3 เมตร โดยศิลปินได้วางเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว และจะมีการวาดภาพใบอื่นเพิ่มเติมอีกเพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นขณะเดียวกันจะจัดขอรูปถ่ายของเจ้าหน้าที่ช่วงปฏิบัติงานเพื่อเล่าเรื่องราวการช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 คนให้ผู้คนทั่วโลกได้ชมได้อย่างสมบูรณ์แบบต่อไป สำหรับรูปปั้นของจ่าแซมที่จะนำไปตั้งด้านหน้าศาลาปัจจุบันปั้นแล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 40% ทั้งนี้ทางศิลปินแกะสลักหินจาก อ.แม่สาย ก็ขอเข้ามามีส่วนร่วมโดยจะแกะสลักหินแกรนิตสีดำเป็นฐานให้กับรูปปั้นดังกล่าวจำนวน 2 ก้อน มูลค่ากว่า 800,000 บาท ไม่รวมค่าแกะด้วย
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเรามาก เพราะจะรำลึกถึงเหตุการณ์ความร่วมมือและวีรบุรุษที่เสียสละชีวิตของตัวเอง ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจจากทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวอย่างมากแน่นอน สำหรับการก่อสร้างคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 4-5 เดือนก็แล้วเสร็จ โดยจะเป็นอาคารและปฏิมากรรมที่เข้ากับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว
ทางด้านอาจารย์สมลักษณ์ กล่าวว่า อาคารพิพิธภัณฑ์จะกว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร รูปปั้นจ่าแซมด้านหน้าจะตั้งห่างออกไปประมาณ 5 เมตร ส่วนห้องน้ำด้านหลังยาว 16 เมตร กว้าง 6 เมตร รูปทรงเป็นศิลปะล้านนาประยุกต์หรือศิลปะร่วมสมัยเพราะพวกเราต่างเป็นศิลปินร่วมสมัย
ทางด้านนายธัญญา ได้ระบุถึงการพัฒนาพื้นที่ว่าเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรมป่าไม้แต่ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ดูแลอยู่จึงได้หารือกับอธิบดีกรมป่าไม้จนได้รับอนุญาตแล้ว และขั้นตอนการก่อสร้างทุกอย่างถือว่าถูกต้องตามขั้นตอนทั้งหมด ขณะที่การผลักดันให้เป็นอุทยานแห่งชาตินั้นจำเป็นต้องให้ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการและเสนอขึ้นไปก่อน แต่ในปัจจุบันยังไม่พบมีการเสนอเรื่องไปยังกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้ให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบก่อน ซึ่งเรื่องนี้ทางอาจารย์เฉลิมชัย รับปากว่าจะเข้าไปช่วยพูดคุยหารือกับชาวบ้านในท้องถิ่นเพื่อเห็นถึงประโยชน์ต่อไป เนื่องจากการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติจะสามารถบริหารจัดการ จัดหารายได้และพัฒนาเองได้ ซึ่งแตกต่างจากการเป็นวนอุทยานฯ .