สืบชะตาหลวง..เชียงราย หลังผ่านเหตุการณ์ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม คนติดถ้ำหลวง และแผ่นดินไหวครั้งใหญ่

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่21 กันยายน2561  นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายสมบูรณ์ ศิริเวช และ นายภาสกร บุญญลักษม์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน คณะศรัทธา พ่อค่า ประชาชน ในจังหวัดเชียงราย ร่วมประกอบพิธีสืบชะตาหลวงเมืองเชียงราย ที่บริเวณมณฑลพิธีเสาสะดือเมืองเชียงราย วัดพระธาตุดอยจอมทอง อ.เมือง จ.เชียงราย และประกอบพิธีสืบชะตาหลวงพร้อมกันทั้ง 18 อำเภอ

พิธีสืบชะตาหลวงเมืองโดยจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ คณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย จัดพิธีกรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชนชาวเชียงราย หลังพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2557 และล่าสุดเหตุการณ์ช่วยเหลือ13 ชีวิตทีมหมูป่าอคาเดมีออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนจนภารกิจสำเร็จลุล่วง

รวมถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดอุทกภัย วาตภัย ดินถล่มสร้างความสูญเสียเป็นจำนวนมากโดยมีพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ รักษาการเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์พระอารามหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์นำพระสงฆ์ 86 รูปเจริญพระพุทธมนต์สวดสืบชะตาหลวงทุกศาสนาในเขตเมืองเชียงรายด้วยฤกษ์เวลา 09.10 .หมายถึงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

////

ความเชื่อการสืบชะตา ตามประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่สมัยโบราณ..

การสืบชะตา เป็นประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่สมัยโบราณ มักทำในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันเกิด อายุครบรอบ ฟื้นจากการเจ็บป่วย หรือในคราวที่หมอดูทำนายว่าดวงชะตาไม่ดี เพราะเชื่อกันว่า การสืบชะตาจะช่วยทำให้ดวงชะตาดีขึ้น จะค้าขายหรือทำงานอะไรก็จะประสบผลสำเร็จและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ

การทำพิธีสืบชะตาเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมหรือผู้ป่วย ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ และเพื่อเป็นสิริมงคล ขับไล่สิ่งเลวร้ายให้ผ่านพ้นไปได้

การประกอบพิธีสืบชะตานั้น มักทำกันในตอนเช้าถึงเที่ยงวันเท่านั้น ผู้ที่จะสืบชะตาจะเป็นผู้กำหนดวันประกอบพิธี เมื่อถึงวันประกอบพิธีจะนิมนต์พระสงฆ์มา 1 รูป หรือ 4 รูปก็ได้ แต่ไม่เกิน 5 รูป และจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ในการประกอบพิธีสืบชะตา ดังนี้
1 ไม้ง่ามค้ำศรี ซึ่งเป็นไม้ง่ามขนาดเล็ก จำนวนเท่ากับหรือมากกว่าอายุของผู้สืบชะตาประมาณ 2-3 อันก็ได้
2 ไม้ง่ามขนาดเขื่อง 3 อัน แล้วนำไม้ง่ามค้ำศรีมามัดติดไม้ง่ามใหญ่โดยแบ่งเป็นมัด ๆ เท่า ๆ กัน ๓ มัด
3 กระทงกาบกล้วย (สะตวง) ข้างในใส่ หมาก เมี่ยง พลู บุหรี่ ข้าวต้ม ขนมต่าง ๆ ปักช่อ (ธงสามชายทำด้วยกระดาษสีต่าง ๆ) รอบ ๆ กระทง 9 อัน
4 ขันตั้ง เป็นพานใส่กรวยหมากพลู 8 อัน กรวยดอกไม้ธูปเทียน 8 อัน กระทงเล็ก ๆ ใส่ข้าวเปลือก ข้าวสาร อย่างละ 1 อัน ผ้าขาว ผ้าแดง หมาก 13 เส้น เบี้ย 13 อัน
5 หน่อกล้วย หน่ออ้อย กระบอกข้าวเปลือก กระบอกข้าวสาร กระบอกน้ำ กระบอกทราย สะพานลวดเงิน สะพานลวดทอง เมื่อจัดหาอุปกรณ์ครบแล้ว พอได้เวลาพระสงฆ์จะมาถึงและทำพิธีให้กับผู้ที่จะสืบชะตา โดยเรียกขวัญสะเดาะเคราะห์ และนำสิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้ไปไว้ที่ต้นโพธิ์หรือต้นศรี

การสืบชะตาเป็นประเพณีที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ ด้วยเชื่อกันว่าคนเราจะประสบเคราะห์กรรมหรือมีเพทภัยต่าง ๆ มาถึงตัว ย่อมมีสาเหตุหลายอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับดวงชะตาของตนเอง บางปีดวงดีบางปีดวงตก ถ้าปีใดดวงชะตาดีจะทำให้มีความสุขสบาย การดำเนินชีวิตก็เป็นไปอย่างราบรื่น จะค้าขายหรือทำกิจการใดก็จะประสบผลสำเร็จ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ถ้าปีใดดวงไม่ดีหรือชะตาขาดปีนั้นจะอยู่อย่างไม่มีความสุข มักจะเจ็บป่วย ดังนั้นจึงต้องมีการทำพิธีสืบชะตา เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุข

 

////

ข่าวอื่นๆ