คนไทยเก่าสุด มีครั้งแรกยุคอยุธยา -: ไทย, คนไทย, เมืองไทย, เก่าสุดอยู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง (ศูนย์กลางอยู่อยุธยา) ไม่พบที่อื่น) หลักฐานเก่าสุดพบขณะนี้ราวหลัง พ.ศ.2000 ในสมุทรโฆษคำฉันท์ กับ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ (อาจมีก่อนแล้วแต่ไม่พบหลักฐาน) ไม่มีชื่อ ชนชาติไทย เชื้อชาติไทย เพราะไทยเป็นชื่อทางวัฒนธรรม ได้ชื่อจากประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง (เช่นคำว่า ไต– ไท แต่ไม่มีเชื้อชาติซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์) จึงไม่มีชนชาติไทย เชื้อชาติไทย
ไทยอยุธยามาจาก “ลาว” -: คนไทยในอยุธยาบอก (ลา ลูแบร์) ว่าตนเป็นคนไทยน้อย (ปัจจุบันคือลาว) และยังมีคนอีกพวกหนึ่งเป็นไทยใหญ่ (ปัจจุบันอยู่ลุ่มน้ำสาละวิน ในพม่า)…..
[ ลาว แปลว่า คน แต่มิใช่คนทั่วๆไป หากหมายถึง คน เป็น “นาย” คนเป็นหัวหน้า ที่ได้รับยกย่องว่ามีฐานะทางสังคมสูงกว่า, ดีกว่า, เหนือกว่าคนอื่น เช่น ลาวจก หมายถึงผู้เป็นใหญ่มี”จอบ” ) “ จอบ” เป็นเครื่องมือขุดดิน ทำด้วยเหล็ก นับเป็นเทดโนโลยีชั้นสูงก้าวหน้ามากเมื่อ 2,500 ปี ที่ผ่านมาคนทั่วไปไม่มี “จอบ” เป็นของตนเอง ต้องระดับหัวหน้าเผ่าพันธุ์เท่านั้นจึงมีได้) เป็นชื่อเรียกบรรพชนผู้เป็นใหญ่ของล้านนา ยุคเริ่มแรก ลาวในชื่อ ลาวจก เทียบเท่าคำว่า “ ขุน” ในรัฐภาคกลาง (เช่น สุโขทัย) หมายถึง กษัตริย์, พระราชา] (ที่มา: สุจิตต์ วงษ์เทศ “สุวรรณภูมิในอาเซียน” นสพ. มติชนรายวัน 2 สิงหาคม 2561 น.13)
*****งานวิจัย 10 ชาติพันธุ์แม่สาย..บอกอะไร*****
อ่านข้อเขียนเชิงวิชาการ ของ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” นี้จบ ทำให้นึกถึงงานวิจัยของ ผศ.ดร.เลหล้า ตรีเอกานุกูล รองคณบดีสำนักวิชาสังคมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) พร้อมด้วย อ.ดร.จันจิรา วิชัย ได้ทำการวิจัย เกี่ยวกับชาติพันธุ์ต่างๆ 10 ชาติพันธุ์ในเขตเศรษฐกิจชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เรื่อง “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในกระแสสังคมพหุวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย” รวมทั้ง อาจารย์ อีกหลายคนที่วิจัยในลักษณะคล้ายๆกันในแก่นเรื่องที่ใกล้เคียงกัน เช่น อ. โกมินทร์ วังอ่อน อ. วชิรวิชญ์ วรชิษณุ อ.นพชัย ฟองอิสสระ อ.ศศิพัชร์ เมฆรา ส่วน อ. ดนิตา มาตา และคณะ วิจัย เรื่อง “เครือข่ายทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.แม่สาย จังหวัดเชียงราย” เมื่อ 1- 2 ปีที่ผ่านมา (2560-61) ต่างก็มีผลวิจัยที่น่าสนใจยิ่ง
โดยกลุ่มเป้าหมายที่ทำวิจัยทั้งหมดมี 10 ชาติพันธุ์ที่อาศัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน อ.แม่สาย ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ อาข่า ลาหู่ ลัวะ ดาราอ้าง ไท–ยวน ไทเขิน ไทใหญ่ ไทลื้อไตหย่าและจีนยูนนาน
คณะผู้วิจัยประวัติความเป็นมา พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ 10 ชาติพันธุ์ ก่อนอพยพมาอยู่ที่ อ.แม่สาย เชียงราย ประเทศไทย ที่มีถิ่นฐานเดิมในประเทศจีนก่อน ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อีก 2 กลุ่ม ที่มีถิ่นฐานเดิมในประเทศเมียนมา ไทใหญ่ และไทเขิน และอีก1 กลุ่มคือชาติพันธุ์ไท–ยวน คือคนพื้นเมืองดั้งเดิมที่อยู่ในล้านนา ด้านวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ในด้านภาษา พบว่าส่วนใหญ่มีภาษาพูด แต่ไม่มีภาษาเขียน ยังคงรับประทานอาหารประจำชาติพันธุ์ของตน มีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์แต่ละชนเผ่าชัดเจน
ส่วนข้อสรุปที่น่าสนใจ ของ อ. ดนิตา มาตา และคณะ ก็น่าสนใจตรงที่ ชาติพันธุ์ต่างๆเหล่านี้กลายเป็น “นักการทูตภาคประชาชน” ที่ใช้เครือข่ายเครือข่ายญาติธรรมจาก 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ช่วยเหลืองานด้านการทูตของรัฐบาลไทยอีกด้วยแบบธรรมชาติแท้ๆอย่างไม่เป็นทางการ โดยอาศัยด้านความเป็นเครือญาติที่สืบสายโลหิตมาจากชาติพันธุ์และชนเผ่าเดียวกัน ยิ่งพูดคุยกันรู้เรื่องดีกว่า ดั่งทีมวิจัยยกตัวอย่างให้เห็นเช่น “ชาวไทลื้อ” ได้เชื่อมโยงเครือข่ายกับชาวไทลื้อในต่างประเทศทั้งใน จีน ลาว เวียดนาม เมียนมา สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมข้ามพรมแดนรัฐชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการนิยามคำว่า“การทูตภาคประชาชน”โดยประชาชนเป็นส่วนสำคัญยิ่งในการเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีในเรื่องต่างๆระหว่างประเทศด้วย…จะเห็นว่าไม่สำคัญเฉพาะหน่วยงานและกระทรวงฯที่เกี่ยวข้องเรื่องการทูตของรัฐบาลเท่านั้น..การทูตภาคประชาชนก็สำคัญยิ่ง
*****“วันชนเผ่าฯ”ทำให้ทุกคนเท่าเทียม*****
สหประชาชาติ (UN)ได้ประกาศให้วันที่ 9 สิงหาคมของทุกปี เป็น”วันสากลของชนเผ่าพื้นเมืองโลก” ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นถึงความสำคัญของการยอมรับ ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งมีประชากรประมาณ 370 ล้านคน อาศัยอยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยประชากร 2 ใน 3 อยู่ในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย(มร.ชร.) เมื่อไม่นานมานี้(8-10 ส.ค.61)มีงาน “วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย” ประจำปี 2561 ภายใต้แก่นเรื่อง “วิถีชนเผ่าพื้นเมือง ๔.๐ สู่สังคมที่เป็นธรรมและยั่งยืน” ที่ หอปรัชญา รัชกาลที่ 9 มร.ชร. โดยมี ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง อธิการบดีฯลงนามความร่วมมือด้านต่างๆด้วย ทั้ง ดร.วรรณะ รัตนพงษ์ คณบดีสำนักวิชาสังคมศาสตร์ มร.ชร. กับองค์กรที่จัดงาน ซึ่งจัดโดย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) สมัชชาเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง และองค์กรร่วมจัดงานทั้งสิ้น 68 องค์กร รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) กับ มร.ชร. เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านต่างๆรวมทั้งให้ความสำคัญต่อด้านสิทธิมนุษยชน ผู้สนับสนุนหลักเป็นองค์กรจากสหภาพยุโรป มีตัวแทนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยมาร่วมงานนี้ 38 ชาติพันธุ์ ร่วม 1,561 คนก็ยิ่งเด่นชัดในความเท่าเทียมกันของความเป็น “มนุษย์” ด้วยกันซึ่งรับผิดชอบประสานการจัดโดย สมาคมศูนย์รวมการศึกษาฯ (IMPECT) อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ในขณะเดียวกันเรื่องนี้ยังมีกฏหมายระบุไว้ชัดเจนในเรื่องความเท่าเทียมกัน…ดังนี้
“ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 มาตรา 70 ระบุว่า “ รัฐพึงให้การสนับสนุนและคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย…”
ในวันนั้นทำให้ผู้ไปร่วมงานเห็นบรรยากาศที่น่าตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ ที่ได้เห็นผู้คนมากหน้าหลายตาแต่งกายประจำชาติพันธุ์ชนเผ่าของตนเองอันเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามยิ่ง รวมทั้งการออกร้านขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหารท้องถิ่นของตนเองที่หลากหลายมีให้เลือกแบบแปลกๆ รวมทั้งนิทรรศการทางวิชาการ หลายชาติพันธุ์ชนเผ่าเราได้ยินแต่ชื่อผ่านสื่อมวลชน เช่น ชนเผ่า มานิ (ซาไก) มอแกน อูรักละโว้ย ไทยแสก ไทยโย้ย ลาวครั่ง ลาวกา ลเวือะ ญัฮกุร ฯลฯ เป็นต้น..วันนั้นยังนำอาหารที่เป็นวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตตนเองแต่ละชนเผ่ามาโชว์ด้วย
ข้อสำคัญต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเรา มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองกระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาค และยังคงดำรง สืบทอดเอกลักษณ์ทางภาษา วิถีภูมิปัญญา จารีตประเพณีอันมีคุณค่าในฐานะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่หลากหลายของกลุ่ม นอกจากนั้น ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย รวมทั้งเป็น เสน่ห์ และสีสัน สร้างมูลค่าเพิ่ม หลายจังหวัดยังนำมาเป็น “จุดขาย” ของการท่องเที่ยวในท้องถิ่นแต่ละจังหวัดของประเทศไทยด้วย
*****เราต่างก็คือ “คนไทย” รัก–สามัคคียิ่งใหญ่*****
ไม่ว่าใครจะเป็นมนุษย์ชาติพันธุ์และชนเผ่าใดๆ ทุกคนก็ได้ชื่ว่าเป็น “คนไทย”ที่อยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารเดียวกันและกฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญเดียวกัน…ต่างก็มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดินแผ่นน้ำ ชายขอบ ชายป่าที่อาศัย… ด้วยใจและกายที่เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ทุกคน..แม้เราจะมีประวัติการกำเนิด เกิดมาแล้วอาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีลักษณะภูมิศาสตร์ที่แตกต่างๆกันก็ตาม เนื่องเพราะเราเลือกเกิดไม่ได้นั่นเอง… เมื่อมาอยู่ในผืนดินแห่งราชอาณาจักรไทยที่อุดมสมบูรณ์และสงบร่มเย็นแห่งนี้แล้ว..เราจึงมีต้องจิตสำนึกรักและเทิดทูนแผ่นดินนี้ให้แม่มั่นยั่งยืน อีกทั้งต้องมีความตระหนักในเรื่อง “ความรัก สมัครสมานสามัคคี” ประสานประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นที่ตั้ง เพื่อให้แผ่นดินไทยเรางดงามด้วยกัน..เชื่อแน่ว่ายากจะหาแผ่นดิน แผ่นฟ้า ชายป่า ชายเขา ท้องทะเล และ ริมธารใดจะสงบสุขร่มเย็นยิ่งกว่าแผ่นดินไทยนี้…คงไม่มีอีกแล้ว….
“ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย” เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่ดำเนินรอยตาม”ศาสตร์ของพระราชา”รัชกาลที่ 9 และพระราโชบายของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่นและสิทธิที่เท่าเทียมกันของประชาชนในทุกๆเรื่อง..ไม่ว่าเรา–ท่านจะเป็นคนชาติพันธุ์และชนเผ่าใด..หากมีสิทธิตามกฎหมาย เพราะเราก็ไทยเหมือนกัน..ที่สุด…เราต่างก็มีหัวใจและจิตวิญญาณ..รักถิ่นฐานและผืนแผ่นดินที่อาศัยเป็นที่ตั้ง..ทั้งมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสรรค์แผ่นดินที่อาศัยให้มั่นคง..และงดงาม..!!
//////
สุรพล เวียงนนท์ สำนักประชาสัมพันธ์ฯม.ราชภัฏเชียงราย // รายงาน/ ภาพ