กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์และสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ชวนพ่อแม่ ครู และผู้กำหนดนโยบายทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ชมสารคดีสั้นและวิดีโอคลิป ภายใต้ “โครงการผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยพลังชุมชน” ชุด “สมองเด็กไทย สร้างได้ด้วยพลังชุมชน” รวม 21 เรื่อง บันทึกเรื่องจริงจากผลสำเร็จของชุมชนในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบจังหวัดเชียงราย จังหวัดระยอง และพื้นที่ขยายผล EF จังหวัดลำปาง ที่ใช้การมีส่วนร่วมและหลักการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือ Executive Functions ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลสัมฤทธิ์ พบเด็กมีค่าประเมินทักษะสมองสูงขึ้นและมีพัฒนาการดีขึ้น ภาพรวมทั้งชุมชนมีความสุขขึ้น
ทั้งนี้หวังจุดประกาย สร้างการเรียนรู้แก่สังคม ให้ตระหนักว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ดี คือการวางรากฐานการศึกษาที่เข้มแข็งของชีวิต เป็น “หน้าที่ของทุกคนในชุมชน” โดยใช้องค์ความรู้ที่ทันยุคทันสมัย มีความสอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของสมอง และพัฒนาการเด็กตามช่วงวัยอย่างถูกวิธี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ปนัดดาธนเศรษฐกร นักวิชาการและนักวิจัย จากสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า Executive Functions (EF) คือความสามารถระดับสูงของสมองมนุษย์ที่ใช้การควบคุมความคิดอารมณ์และการกระทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย EF เป็นกระบวนการของสมองที่อยู่ในสมองส่วนหน้าของมนุษย์ เมื่อแรกเกิดยังเติบโตไม่เต็มที่ งานวิจัยระยะยาวของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า อัตราการเติบโตสูงสุดของ EF อยู่ในช่วงปฐมวัย หรืออายุ 3-6 ปี เด็กจะมี EF แข็งแรงได้จึงต้องผ่านการฝึกฝน บ่มเพาะ ได้รับโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำ ให้เด็กมีประสบการณ์ตรงที่หลากหลายมากๆ อย่างไรก็ดีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดอันเป็นฐานของการพัฒนา EF คือการได้รับความรัก ความอบอุ่นผูกพันจากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ในครอบครัว รวมถึงได้รับการจัดประสบการณ์เรียนรู้ทั้งในสถานศึกษาสำหรับเด็กเล็ก ที่บ้าน และในชุมชนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
และในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย ที่ได้ทำการวิจัยโดยการประเมินวัดค่าทักษะสมอง EF ในเด็กปฐมวัยในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบ ประเมินโดย “แบบประเมินพัฒนาการด้านความคิดเชิงบริหาร (MU-EF 101) ซึ่งเป็นเครื่องมือมาตรฐานที่ใช้ค่า Norm ของเด็กไทยทั่วประเทศ ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเด็กปฐมวัยในกลุ่มทดลองมีพัฒนาการทักษะสมอง EF มากกว่าเด็กปฐมวัยในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เมื่อนำผลที่วัดได้จากเด็กกลุ่มทดลองไปเปรียบเทียบกับค่า Norm พบว่านอกจากเด็กกลุ่มทดลองจะมีคะแนนเฉลี่ยทักษะสมอง EF มากกว่ากลุ่มควบคุมแล้วยังมีคะแนนเฉลี่ยทักษะสมอง EF มากกว่าค่า Norm ของเด็กไทยทั่วประเทศอีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ปนัดดา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ค่า Norm ทักษะสมองของเด็กไทย เป็นเพียงค่าปกติที่ทำการประเมินวัดไว้ แต่ไม่ได้หมายถึงตัวเลขที่ดีที่สุดในการพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็กและเยาวชนของไทยทุกคน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กที่ศึกษาความรู้เรื่อง Executive Functions เป็นอย่างดี จะสามารถเข้าใจได้ว่า เราสามารถพัฒนาทักษะสมอง EF ให้กับเด็กแต่ละคนได้เต็มศักยภาพอย่างเต็มที่ไปได้เรื่อยๆ จนถึงวัยผู้ใหญ่หรืออายุประมาณ 25 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สมองส่วนหน้าเติบโตเต็มที่ เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถใช้ทักษะสมอง EF เพื่อจัดการชีวิตให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์นพ.วิจารณ์พานิชประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และที่ปรึกษาของภาคีเครือข่าย Thailand EF Partnership ชี้ชัดว่า ถ้านำ EF เข้าสู่การพัฒนาเด็กของเราตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อพัฒนาคุณภาพคนจะมีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาที่ประเทศไทยกำลังพยายามทำกันอยู่เพราะเด็กที่ได้รับการฝึก EF จนแข็งแรง จะมีการพัฒนาทั้งบุคลิกภาพและคุณลักษณะที่ดีได้ง่าย การศึกษาสมัยใหม่ เราไม่ได้เรียนเฉพาะวิชาความรู้หรือทักษะที่ใช้เพื่อการไปทำงานเท่านั้น แต่เราเรียนเพื่อที่จะสร้างบุคลิกทางความคิด (Mindset) ความเชื่อต่างๆ ในด้านบวกประกอบไปด้วย Executive Functions จึงเป็นตัวช่วยเสริมให้คน โดยเฉพาะเด็กสามารถพัฒนาคุณลักษณะต่างๆ ได้ดี
ยิ่งนับวันการเรียนรู้ในลักษณะที่ต้องเปลี่ยนชุดความรู้ เปลี่ยนชุดความเชื่อยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรุนแรงและเร็วขึ้นเรื่อยๆ คนที่มี EF แข็งแรง จะเป็นพื้นฐานที่จะทำให้สามารถปรับตัว ปรับเปลี่ยนความคิดและวิธีปฏิบัติได้ง่ายขึ้น สมัยใหม่เรียกว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงหรือ Transformative Learning อีกทั้งโลกในอนาคตเรียกร้องให้คนมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรม คือเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ นี่คือหัวใจ การมีชีวิตที่ดีได้ต้องรู้จักเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Change agent เพราะฉะนั้น Transformative Learning จะมีผลทำให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณสมบัติเป็น Change agent การที่มี EF เข้มแข็งจะทำให้คนนั้นเป็น Change agent ได้ง่าย ได้แข็งแรงกว่า เพราะมีสมองความคิดที่ยืดหยุ่น และมองสิ่งต่างๆ ได้หลายแง่หลายมุม การที่จะขยายการพัฒนา EF ไปในเชิงสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเด็กส่วนใหญ่ต้องทำให้มันกลายเป็นของธรรมดาเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ทำกันอยู่ในบ้านในโรงเรียนในที่ทำงานในชุมชนพูดง่ายๆคือในสังคมทั้งหมด
นางสุภาวดีหาญเมธีประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป) กล่าวว่า สังคมไทยจำเป็นต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เข้ายุคเข้าสมัย เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากประสบการณ์ในการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเด็กมาโดยตลอด ทำให้เราแน่ใจว่าความรู้เรื่องการพัฒนาทักษะสมอง EF คือทางออกทางรอดของวิกฤตปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ เราทุกคนจำเป็นต้องศึกษาเรื่อง EF ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพราะเกี่ยวข้องกับขีดความสามารถในการพัฒนาศักยภาพพลเมืองของประเทศโดยตรง อย่างไรก็ดีด้วยความที่ EF เป็นเรื่องใหม่ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้ที่นำไปปฏิบัติใช้แล้วเกิดผลดีเลิศ หรือ Best Practices จะยิ่งทำให้เข้าใจได้เร็วขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนได้รับชม และช่วยกันแชร์สารคดีสั้นและวิดีโอคลิปชุดนี้ให้แพร่หลายออกไปมากๆ เพื่อให้ทุกชุมชนได้เห็น ได้ศึกษา เกิดแรงบันดาลใจ และเกิดแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาเด็กและเยาวชนของเราได้ โดยไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ติดตามข่าวสารได้ที่
ชมตัวอย่างสารคดี “บ่อน้ำบ่อทราย : พลังครูพลังพ่อแม่พลังชุมชนพลังจิตอาสาองค์ประกอบหลักสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา” ได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=cshS9LXAplI&list=PL2kRXcspV23B_dqHMljUmjMajUunaqjDh&index=2
รับชมสารคดีสั้นและวิดีโอคลิปชุด “สมองเด็กไทยสร้างได้ด้วยพลังชุมชน” ทั้งหมดได้ที่https://www.youtube.com/channel/UCpRPMd0mFyZu0zn14qU1yyg
งานพ่อขุนเม็งรา…
วันที่ 18 ธันวา…
สถานคุ้มครองสวั…
เมื่อวันที่ 15 …