มฟล.พบเห็ดหูหนูชนิดใหม่ของโลก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ cสามารถเพาะกินได้ไม่เกิดอันตราย เตรียมเผยแพร่แก่เกษตรกรไทย
วันที่ 24 เมษายน 2563 รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเผยว่า มฟล.พบเห็ดหูหนูชนิดใหม่ของโลก ‘มุสิกรัตน์’ ชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งค้นพบโดยทีมนักวิจัยของ มฟล.
นำโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เควิน เดวิด ไฮด์ และคณะ สังกัดศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา ที่ได้ดำเนินโครงการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของเชื้อเห็ดราในภาคเหนือของประเทศไทย เพื่อการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน และจากการดำเนินโครงการได้ค้นพบเห็ดชนิดใหม่ที่เป็นการค้นพบใหม่ของโลก จำนวน 1 ชนิด คือ เห็ด Auricularia thailandica thailandica Bandara & K.D. Hyde, sp. nov. ซึ่งจัดเป็นเห็ดสกุลเห็ดหูหนู และให้ชื่อวิทยาศาสตร์ ‘thailandica’ เนื่องจากค้นพบในจังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย ภายหลังได้นำมาทดลองเพาะในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า สามารถเพาะได้ให้ผลิตผลที่ดีและมีคุณภาพ และถูกจัดให้เป็นเห็นที่อยู่ในประเภทเห็ดกินได้ ซึ่งจะได้เผยแพร่ให้แก่เกษตรกรไทยต่อไป
ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยเชื้อรา ให้ข้อมูลอีกว่า เห็ดสกุล Auricularia (jelly fungi) หรือเห็ดหูหนู เป็นเห็ดที่ค้นพบอย่างแพร่หลาย ทั้งในเขตร้อนชื้นและเขตอบอุ่น เป็นเห็ดที่มีความสำคัญกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากเห็ดในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จัดเป็นเห็ดกินได้และถูกบริโภคมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ยกตัวอย่าง เห็ด Auricularia auricula-judae (Bull.: Fr.) Queìl และ เห็ด A. polytricha (Mont.) Sacc. เป็นเห็ดที่นิยมรับประทานโดยทั่วไป เป็นต้น ในประเทศไทยเห็ดหูหนูก็เป็นเห็ดที่นิยมในการบริโภคเช่นเดียวกัน เช่น เห็ด A. auricular (Gray) G.W. Martin และ เห็ด A. Polytricha (Mont.) Sacc. ทั้งนี้ เห็ดหูหนูทั่วไปเป็นเห็ดหูหนูที่นำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาเพาะในประเทศไทย ส่วน ‘มุสิกรัตน์’ เป็นเห็ดหูหนูที่พบครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นชนิดใหม่ของโลก
/////////////