ศาสตร์พระราชาพัฒนาอาชีพชาวไทยภูเขาเชียงของ

แชร์ข่าว

เชียงของประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชาพัฒนาอาชีพชาวไทยภูเขาหมู่บ้านขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์…สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่ารักษาสิ่งแวดล้อม 

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมหารือหน่วยงานเกษตร ป่าไม้ ชลประทาน โรงเรียน ตชด. นายก อบต.ริมโขง และผู้ใหญ่บ้าน เพื่อวางแนวทางการพัฒนาอาชีพรองรับการขับเคลื่อนการพัฒนาหมู่บ้านขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์ ดึงหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยสะโง้และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้งมาร่วมเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาสร้างทางเลือกใหม่ปรับเปลี่ยนวิถีการประกอบอาชีพให้แก่ราษฎรชาวไทยภูเขาชนเผ่าม้งและลาหู่ บ้านกิ่วกาญจน์ และกิ่วดอยหลวง ตำบลริมโขง โดยเน้นการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กลุ่มผักโรงเรือนปลอดภัยมาตรฐานโครงการหลวง กลุ่มผลไม้ปลอดภัย กลุ่มกาแฟ กลุ่มศิลปะหัตถกรรมผ้าปัก และกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี 

นอกจากนั้น วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน 2563 นายอำเภอเชียงของได้นำคณะกรรมการบ้านกิ่วกาญจน์และกิ่วดอยหลวง พร้อมด้วยนายก ปลัด และเจ้าหน้าที่ อบต.ริมโขง ไปศึกษาดูงานต้นแบบโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ณ ศูนย์ประสานงานโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย โดยได้รับเมตตาจากพระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ได้ให้ข้อคิด และคำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนไปพร้อมกับการฟื้นฟูป่ารักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร 

นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้แก่ประชาชนบ้านกิ่วกาญจน์และกิ่วดอยหลวง เน้นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักและพินิจพิจารณาถึงสภาพปัญหาและวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำสำหรับทำการเกษตร ปัญหาการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้พื้นที่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการบุกรุกบุกเบิกพื้นที่ป่าต้นน้ำอยู่เสมอ รวมทั้งปัญหาการเผาพื้นที่การเกษตรลุกลามเข้าพื้นที่ป่าที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตลอดจนปัญหาคุณภาพสินค้าการเกษตรไม่ได้มาตรฐาน ปนเปื้อนสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค  เกษตรกรทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ไม่รู้จักการพัฒนาคุณภาพการผลิตที่ทันสมัย ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ รวมถึงปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ปัญหาสังคมด้านอื่นๆ เป็นลูกโซ่ อาทิ ปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติด เป็นต้น 

นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรบ้านกิ่วกาญจน์และบ้านกิ่วดอยหลวง หมู่บ้านขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์นั้น จะประยุกต์ใช้ศาสตร์พระราชากับการพัฒนาทางเลือก จากพื้นที่ที่เคยมีปัญหาค้ายาเสพติดให้กลายเป็นผืนแผ่นดินแห่งการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ ผสมผสานกับแนวคิดประตู 6 บาน เข้ามาเป็นกรอบในการขับเคลื่อนดำเนินการ ดังนี้

ประตูบานที่หนึ่ง การพัฒนาจัดสรรที่ดินทำกิน ตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่โขงฝั่งขวา ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของไปจนถึงตำบลแม่เงิน อำเภอเชียงแสน โดยเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จะดำเนินการออกสำรวจตรวจสอบเอกสารพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 เพื่อเสนอไปยังกรมป่าไม้ออกเอกสารรับรองตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป 

ประตูบานที่สอง การพัฒนาแหล่งน้ำหลากหลายระบบ โดยเน้นการทำฝายกักเก็บน้ำ และฝายชะลอน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่าต้นน้ำ รวมทั้งการวางระบบท่อกระจายน้ำไปไว้ในถังพักน้ำ เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมชลประทาน นอกจากนั้น ยังได้มีการประสานงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อวางแผนจัดทำระบบสูบส่งน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงประสานงานกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลอีกทางหนึ่งด้วย

ประตูบานที่สาม การพัฒนาคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตามแนวทางเกษตรผสมผสาน และเกษตรปลอดภัย (GAP) เน้นการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งใช้พื้นที่มาก แต่ได้ผลผลิตน้อย ไม่คุ้มค่า มีการใช้สารเคมีปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก และมีการเผาพื้นที่เกษตรเป็นประจำทุกปี มาเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสานใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลผลิตมาก เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอย่างเข้มแข็ง เสริมสร้างพลังความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน และกระตุ้นให้เกิดพลังชุมชนระเบิดจากข้างในไปสู่ความเปลี่ยนแปลงให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง โดยเบื้องต้น ประกอบด้วย กลุ่มอาชีพ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผักโรงเรือนปลอดภัยมาตรฐานโครงการหลวง กลุ่มผลไม้ปลอดภัย กลุ่มกาแฟ กลุ่มศิลปะหัตถกรรมผ้าปัก และกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ โดยดึงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ ศูนย์วิจัยพืชสวน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) มูลนิธิโครงการหลวง กรมป่าไม้ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

 

ประตูบานที่สี่ การพัฒนานวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร เบื้องต้น ได้แก่ การแปรรูปหน่อหวายส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา การแปรรูปกาแฟ การแปรรูปโกโก้ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมทั้งการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอื่นที่มีอยู่ในพื้นที่ตามโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ด้วย 

ประตูบานที่ห้า การพัฒนาตลาดทางเลือกที่หลากหลาย ได้แก่ การสร้างตลาดกาดม้งกิ่วกาญจน์ในพื้นที่หมู่บ้าน การเช่าพื้นที่ตลาดสินค้าเกษตรผักผลไม้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านกิ่วกาญจน์ในพื้นที่ตลาดล้านเมือง ตลาดสินค้าในห้างสรรพสินค้า Modern Trade รวมทั้งตลาดสินค้าออนไลน์หลากหลายช่องทางด้วย

ประตูบานที่หก การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยการสร้างแปลงเกษตรต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว รวมทั้งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับรีสอร์ทลั่นเจีย ลอดจ์ ที่มีอยู่ในพื้นที่ด้วย 

นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการไปศึกษาดูงานโครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ที่วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ คณะผู้นำของหมู่บ้านทั้งสองหมู่บ้านที่ไปร่วมศึกษาดูงานด้วยกันมีความสนใจ และมองเห็นประโยชน์ของโครงการดังกล่าวที่จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับการพลิกฟื้นคืนผืนป่าให้กลับมาชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง สามารถแก้ไขวิกฤตความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำทำการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี และจะเริ่มเข้าไปปรึกษาหารือกับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านให้ร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนผลักดันกันอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่มีองค์กร/หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาหมู่บ้านขยายผลโครงการร้อยใจรักษ์อย่างแข็งขันเป็นจำนวนมาก 

ซึ่งถือเป็นต้นทุนการดำเนินงานที่สำคัญ นอกเหนือจากความสมัครสมานสามัคคีของประชาชนในพื้นที่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนโครงการร้อยใจรักษ์ให้บรรลุผลสำเร็จ พลิกผืนแผ่นดินที่เคยแห้งแล้งด้วยเกษตรเชิงเดี่ยว ให้กลายเป็นผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเกษตรผสมผสาน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เน้นการปลูกพืชพันธุ์อันหลากหลายตามระดับความสูงของเรือนยอด 5 ระดับ ประกอบด้วย 1. ไม้สูง เป็นไม้ป่าที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สัก ประดู่ มะค่า ยางนา 2. ไม้กลาง เป็นไม้ผลที่สามารถเก็บขายเก็บกินได้ เช่น ขนุน ทุเรียน อโวคาโด้ ไผ่ กล้วย มะม่วงหิมพานต์ 3. ไม้เตี้ย เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น กาแฟ โกโก้ หวาย ผักหวาน พริก มะเขือ 4. ไม้เลื้อยเรี่ยดิน เช่น ฟักทอง แตงกวา ตะไคร้ 5. ไม้หัวใต้ดิน เช่น เผือก มัน กลอย บุก ขิง ข่า กวาวเครือ โดยพี่น้องประชาชนมองเห็นความหวังต่อไปในอนาคตว่า จะมีอาชีพและรายได้มั่นคง มีคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมที่ดี ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดเหมือนในอดีตที่ผ่านมาอีก จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาช่วยสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ทั้งสองหมู่บ้านให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง

ข่าวอื่นๆ