กฟภ. ลงนามร่วม เทศบาลนครเชียงราย เตรียมนำสายไฟฟ้าลงดิน

แชร์ข่าว

วันที่ 2 กรกฎาคม 2563 นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย และ นายปิยพจน์ รุธิรโก รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงโครงการก่อสร้างระบบเคเบิลไฟฟ้าใต้ดิน เทศบาลนครเชียงราย ที่อาคารเทิดพระเกียรติ 90 ปี สมเด็จพระศรีนครรินทราบรมราชชนนี เทศบาลนครเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย  โดยทั้ง 2 องค์กรจะร่วมกันปรับปรุงระบบสายไฟฟ้าให้เป็นเคเบิลใต้ดินในจำนวน 5 เส้นทางเป็นการนำร่อง ได้แก่

1.ถนนรัตนาเขตตั้งแต่สี่แยกวัดกลางเวียง-สถานีขนส่งผู้โดยสาร จ.เชียงราย แห่งที่ 1 และถนนบรรพปราการ ตั้งแต่หอนาฬิกา-สี่แยกประตูสลี ระยะทาง 1.45 กิโลเมตร

2.ถนนธนาลัย ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-จุดถนนรัตนาเขต ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร

3.ถนนธนาลัย ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 0.85 กิโลเมตร

4.ถนนบรรพปราการ ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-หอนาฬิกา ระยะทาง 0.75 กิโลเมตร

5.ถนนบรรพปราการ ตั้งแต่จุดตัดถนนรัตนาเขต-ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 0.75 กิโลเมตร

สำหรับการลงนามในครั้งนี้มี ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ผู้บริหารจากทั้ง 2 ฝ่ายและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือทีโอทีเข้าร่วมด้วย ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวธรรมชาติ ศิลปะ สปอร์ตซิตี้ฯลฯ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือเรื่องภูมิทัศน์อันเกิดจากสถานที่ทางศิลปวัฒนธรรม งานประเพณีต่างๆมหกรรมสำคัญประจำปี เช่น งานดอกไม้ ฯลฯ ถูกบดบังจากเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้ารวมทั้งสายสื่อสาร ดังนั้นการที่มีโครงการก่อสร้างระบบเคเบิลไฟฟ้าใต้ดินดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างมาก และยังช่วยแก้ปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะวาตภัยที่บางครั้งทำให้เสาไฟฟ้าล้มและบางครั้งทำให้กระแสไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างมาแล้วด้วย

ด้าน นายปิยพจน์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ทาง กฟภ.ได้ร่วมกับเทศบาลนครเชียงรายในการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยจะแบ่งเป็น 2 โครงการ คือ โครงการถนนเฉลิมพระเกียรติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งทาง กฟภ.ดำเนินการเองทั้งหมดซึ่งใช้งบประมาณร่วมกับทุกจังหวัดทั่วประเทศจังหวัดละประมาณ 1 กิโลเมตรประมาณ 4,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยจังหวัดละประมาณ 50 ล้านบาท และโครงการนี้ดังกล่าวโดยมีอัตราส่วนดำเนินการงานโยธาของฝ่ายเทศบาล 45% และ กฟภ.55% ซึ่งกรณีของ 5 เส้นทางดังกล่าวใช้งบประมาณรวม 488.76 ล้านบาทโดยแยกเป็นงบประมาณจากเทศบาลจำนวน 205 ล้านบาทและ กฟภ.ประมาณ 283 ล้านบาท

นายปิยพจน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันได้มีการตรวจสอบแบบคืบหน้าแล้วกว่า 95% และหากไม่มีข้อข้องก็จะใช้เวลาอีกราว 2 สัปดาห์แล้วเสร็จแล้วแจ้งให้ทางเทศบาลนครเชียงราย เพื่อนำเข้าสู่สภาพิจารณา เมื่อกฟภ.ได้รับแจ้งกลับไปอีกครั้งก็จะทำการจัดซื้อจัดจ้างได้ซึ่งการดำเนินการช่วงนี้คาดว่านานประมาณ 2-3 เดือน และจะก่อสร้างได้ราวเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ หรืออาจจะช้าไปอีกไม่กี่เดือน เพราะมีสายสื่อสารของเอกชนหลายรายแต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะทีโอทีที่มักจะนำสายของตัวเองลงใต้ดินควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้หากก่อสร้างแล้วก็จะใช้ระยะเวลาประมาณ 360 วันหรือ 1 ปี โดยเป็นงานโยธา เช่น ขุด วางท่อ ฯลฯประมาณ 6-8 เดือนที่เหลือเป็นงานวางระบบสายไฟฟ้าและอื่นๆ ตามขั้นตอน

ทางด้านนายวันชัย กล่าวว่า โครงการนี้มีการทำประชาพิจารณ์แล้วเสร็จแล้วและประชาชนลงความเห็นให้การสนับสนุนเพื่อให้มีทัศนียภาพที่สวยงามและมีความปลอดภัยจึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ดังกล่าว ซึ่งถือว่าโครงการมีความล่าช้าเพราะเคยได้รับงบประมาณ 100 ล้านกว่าบาท เมื่อ 2-3 ปีก่อนแต่เกิดข้อขัดข้องต้องคืนงบประมาณไป สำหรับครั้งนี้ได้มีการสอบถามทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งทาง กฟภ.แล้วก็เชื่อว่าจะเดินหน้าและสามารถขยายไปยังถนนสายอื่นๆ ได้อีกในอนาคตต่อไป

ข่าวอื่นๆ