ข่าว

ประกาศโรคระบาดในโค-กระบือ เชียงแสน

แชร์ข่าว

วันที่ 12 สิงหาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทาง ปศุสัตว์อำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย ได้ออก ประกาศสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเชียงแสน เรื่องกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวโรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย ในโค กระบือ โดย ห้ามมิให้ผู้ใดเคลื่อนย้ายสัตว์ชนิด โค กระบือหรือซากสัตว์ของสัตว์ดังกล่าว เข้า ออก ผ่าน หรือภายในเขตโรคระบาดชั่วคราว เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบประจำเขตนั้นทุกครั้งที่มีการเคลื่อนย้าย จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2563

ข้อมูลเกี่ยวกับ โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย (Hemorrhagic Septicemia)

โรคเฮโมรายิกเซพติซีเมีย หรือที่เรียกตามอาการ ว่า โรคคอบวม เป็นโรคระบาดรุนแรง ของกระบือ แต่โรคนี้จะมีความรุนแรงน้อยลงในสัตว์อื่นๆ เช่น โค แกะ สุกร ม้า อูฐ กวาง และช้าง เป็นต้น โรคนี้ไม่เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน ลักษณะสำคัญของโรค คือ สัตว์จะหายใจหอบลึกมีเสียงดัง คอ หรือหน้าบวมแข็ง อัตราการป่วยและอัตราการตายสูง เชื้อชนิดนี้อยู่ในระบบทางเดินหายใจสัตว์ปกติได้ โดยที่สัตว์ไม่แสดงอาการป่วยแต่เมื่อมีภาวะทำให้สัตว์เครียด สัตว์จะแสดงอาการป่วยและขับเชื้อออกมาสู่สิ่งแวดล้อม

สาเหตุและการแพร่ระบาด
เกิด จากเชื้อแบคทีเรียชื่อ พาสทูเรลลา มัลโตซิดา (Pasteurella multocida) พบในประเทศต่างๆ ของเอเซีย และอาฟริกาเป็นส่วนมาก การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นได้ง่ายในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ต้นฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป ในสภาวะความเครียดเช่นนี้สัตว์ที่เป็นตัวเก็บเชื้อ (Carrier) จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่เข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้ และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไป เชื้อนี้จะมีชีวิตอยู่ในแปลงหญ้าอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าอยู่ในดินที่ชื้นแฉะได้นานถึง 1 เดือน

ข้อมูลจาก: สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร่วมสนับสนุนข่าวโดย

Kao Krai News

Recent Posts