ข่าว

มฟล.เปิดตัวหลักสูตรระยะสั้น ‘พุทธศิลปกรรม’

แชร์ข่าว

มฟล.เปิดตัวหลักสูตรระยะสั้น ‘พุทธศิลปกรรม’ โอกาสเดียวที่จะได้เรียนศิลปะกับยอดศิลปิน

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) วัดร่องขุ่น และศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน  ไร่เชิญตะวัน มีแนวคิดร่วมกันในการเสนอจัดให้มีหลักสูตรระยะสั้น ในรูปแบบศาสนาและศิลปะขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริม ให้แก่ผู้ที่มีความสนใจศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม โดยเน้นให้สร้างความรู้ ความเข้าใจด้านสุนทรียศาสตร์ทั้งทฤษฎีและสามารถปฏิบัติ นำหลักการมาปรับใช้ในด้านการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ สร้างสรรค์ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานพุทธศิลปกรรมให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

หลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ โดยเปิดโอกาสให้พระภิกษุ สามเณร ประชาชนและผู้สนใจด้านศิลปะ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้โดยหลักสูตรแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์ขึ้นพื้นฐาน ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามแผนการเรียนการสอนในแต่ละระดับ จะได้รับใบประกาศการสำเร็จการศึกษาที่รับรองโดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) และศาสตรเมธี ดร. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ

หลักสูตรสั้นระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน เน้นสร้างเสริมองค์ความรู้ด้านสุนทรียศาตร์ให้แก่พระภิกษุ สามเณร และประชาชนทั่วไปได้ศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการ การอนุรักษ์ การสร้างสรรค์ รวมถึงการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ให้กับบริบทสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างหมาะสม ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ เน้นสร้างเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปะ เน้นการปฏิบัติงานทั้งด้านจิตกรรม ประติมากรรม และเทคนิคการสร้างสรรค์อื่นๆ ในการค้นคว้าหาแนวทางในการสร้างสรรค์รูปแบบอัตลักษณ์เฉพาะตน และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง เน้นคัดสรรผู้ที่สนใจที่จะศึกษา พัฒนารูปแบบ แนวทางการสร้างสรรค์งานศิลปะให้เกิดเป็นรูปแบบการสร้างสรรค์ในอัตลักษณ์เฉพาะตน

ดำเนินการสอนโดยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับสูง ไม่ว่าจะเป็น ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ในศาสตร์แห่งศิลปะ ด้านเทคนิค วิธีการ กระบวนการแนวทางในการบริหารจัดการทางศิลปะ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจต่อการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างยิ่งยืน หรือพระเมธีวชิโรดม (ว.วชิรเมธี) ในด้านการเผยแพร่องค์ความรู้ทางพระพุทธศาสนา ในรูปแบบสมัยใหม่ ‘ธรรมประยุกต์’

นอกจากนี้ยังมี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (พระรัตนมุนี) ด้านการอนุรักษ์ศิลปกรรม ด้านพระพุทธศาสนาและการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัดเชียงราย, อาจารย์นคร พงษ์น้อย ด้านการจัดการศิลปกรรม การสืบสานวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศไทย, ผศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ด้านการสอน ทฤษฎี ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยและศิลปะสากล ส่วนด้านการเรียนการสอน เทคนิค วิธีการ กระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปะ ในรูปแบบงานทัศนศิลป์ไทยและศิลปะสากล มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านสร้างสรรค์งานจิตกรรมเชิงพุทธศิลป์ ด้านงานประติมากรรม โดย อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ ด้านงานประติมากรรมโดยอาจารย์มานิตย์ กันทะสัก ด้านการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม โดยอาจารย์กาญจนา ชลศิริ ด้านการสร้างสรรค์โดยใช้วัสดุ โดย อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น

คุณสมบัติผู้สมัคร เป็นพระภิกษุสามเณรและประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ดี ในกรณีที่เป็นพระภิกษุหรือสามเณร ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นพระภิกษุหรือสามเณร มีความประสงค์ลงทะเบียนเพื่อศึกษาในหมวดวิชาพระพุทธศาสนาหมวดวิชาทฤษฎีศิลปะและหมวดวิชาการบริหารจัดการศิลปะ และอื่นๆ ตามประกาศรับสมัคร ทั้งนี้สมัครผู้สนใจเข้าศึกษาทั้งหมด 50 ที่ แบ่งเป็นระดับที่ 1 รับจำนวน 30 ที่ ระดับที่ 2 รับจำนวน 15 ที่ และระดับที่ 3 รับจำนวน 5 ที่ โดยในรุ่นที่ 1 ไม่มีค่าใช้จ่ายเนื่องจากมีผู้สนับสนุนทุนการศึกษาเต็มจำนวนแล้ว

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม ไปเมื่อวันอังคารที่ 29 กันยายน 2563 ณ วิหารพระเจ้าล้านทองเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ภายในงานมีนิทรรศการแสดงผลงานภาพของศิลปินและอาจารย์ผู้สอนหลักสูตรระยะสั้น    สาขาวิชาพุทธศิลปกรรม โดย รศ.ดร. ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า นับเป็นก้าวย่างใหม่ของ มฟล. ในฐานะสถาบันอุดมสึกษา มีพันธกิจการสอน วิจัย และบริการวิชาการแล้ว ยังมีบทบาทในการทำทุนบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงรายซึ่งเป็นเมืองแห่งศิลปะ และยังเป็นจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติและศิลปินท้องถิ่นหลากหลายสาขา จึงได้มีแนวความคิดในการจัดทำหลักสูตรระยะสั้น สาขาวิชาพุทธศิลปกรรมนี้ขึ้นมา

นอกจากนี้ยังได้มีพิธีมอบทุนสนับสนุนการศึกษาด้านพุทธศิลปกรรม กองทุนพุทธศิลปกรรมแห่ง   มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และการเสวนา หัวข้อ ‘พุทธศิลป์ร่วมสมัย ในวิถีไทยและวิถีโลก’ โดยมี สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) กรรมการมหาเถรสมาคม วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กล่าวนำการเสวนา โดยผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย รศ. ดร.วันชัย  ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย  โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ผู้ดำเนินรายการเสวนา ผศ. ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง โดยมีผู้แทนหน่วยงานเกี่ยวข้อง ผู้สนใจด้านศิลปะ ศาสนา ผู้สื่อข่าวเข้าร่วมกิจกรรม

///

หมายเหตุ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเชิญร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุนพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ธนาคารกรุงเทพ สาขามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ชื่อบัญชี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (กองทุนพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง)

เลขที่บัญชี 672-0-50576-4 โดยใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โทรศัพท์ 0-5391-7897 ต่อ 8031-6

Kao Krai News

Recent Posts