ชาวนา สมาชิกกองทุนฟื้นฟู เชียงราย ร้องศูนย์ดำรงธรรม ที่ดินถูกขายทอดตลาด ทั้งที่ได้รับการคุ้มครอง ตามมติ ครม.
วันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.เชียงราย นายณรงค์ เทพวงศ์ อายุ 56 ปี ชาวนาที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)จ.เชียงราย ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรม และขอการช่วยเหลือจาก ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงราย โดยมีนายนิยม สุวรรณประภา หัวหน้าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)จ.เชียงราย พร้อมเจ้าหน้าที่นำเอกสารเข้าให้ข้อมูลประกอบแก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม
ซึ่งการเข้าร้องเรียนเพื่อขอความช่วยเหลือกรณีที่นาจำนวน 19 ไร่ของ นายณรงค์ ถูกทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู โดยทาง สนง.กฟก.เชียงราย และนายณรงค์ ได้ยื่นเอกสารเกี่ยวกับที่ดินเป็นนาข้าว 2 แปลงรวม 19 ไร่ อยู่พื้นที่ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย พร้อมเอกสารมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 16ม.ค.2550 ในการช่วยเหลือเรื่องหนี้สินของเกษตรกร
นายณรงค์ กล่าวว่าที่ดินดังกล่าวตกทอดมาจากรุ่นพ่อแม่ ต่อมา นายนรินทร์ เทพวงศ์ พี่ชายของตนได้เข้าทำประโยชน์และกู้ยืมเงินเพื่อนำมาทำนา ต่อมาประสบปัญหาหนี้สินจึงเข้าเป็นสมาชิก กฟก. และต่อมาเมื่อ นายนรินทร์ เสียชีวิต ตนก็เข้ารับช่วงมรดกนี้ต่อ ปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่นาและตนยังมีพี่น้องอีก 5 คนที่เกี่ยวข้องกับที่ดินผืนนี้ ดังนั้นจึงพยายามรักษาเอาไว้โดยเข้าสู่กระบวนการ กฟก. เพราะหวังว่าจะช่วยเหลือได้ และที่ผ่านมาก็ช่วยเหลือได้จริงๆ โดยในปี 2562 และปี 2563 สามารถชะลอการขายทอดตลาดได้ แต่ปรากฎว่าในปี 2564 หลังวันขายทอดตลาดไม่กี่วันได้มีผู้นำป้ายขายที่ดินไปติดเอาไว้บนที่นาของตน 4-5 จุดทั้ง 2 แปลงทำให้ตนและญาติพี่น้องตกใจอย่างมาก เมื่อแจ้งไปยังผู้ติดป้ายก็ได้รับคำตอบว่าเขาได้เข้าซื้อที่ดินที่ถูกขายตลาดผืนนี้ไปแล้ว ทำให้ตนตกใจมากขึ้น เพราะเป็นที่นาผืนเดียวที่มีอยู่หากสูญเสียไปก็คงไม่มีที่ดินทำกินอีก
นายนิยม กล่าวว่าสมาชิกรายนี้ได้เข้าสู่ระบบ กฟก.ตั้งแต่ปี 2553 เพราะเป็นหนี้ต้นกับ ธ.ก.ส.สาขาจันจว้า อ.แม่จัน จำนวนประมาณ 470,000 บาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนประสานขอชำระหนี้ แต่ปรากฎว่าในปี 2562 ปี 2563 ทางเกษตรกรได้รับแจ้งว่าจะมีการขายทอดตลาดที่ดินจึงแจ้งให้ทาง กฟก.ได้รับทราบและทาง กฟก.ก็แจ้งถึง ธ.ก.ส.สาขาเชียงราย และตัวชาวนาก็ไปยื่นคัดค้านเพื่อให้ชะลอตามขั้นตอนซึ่งก็มีการทำเช่นนี้มาโดยตลอด และมาปี 2564 ก็ได้ทำหนังสือ ของดการขายทอดตลาดไปเช่นกัน เมื่อวันที่ 25ม.ค.64 แต่มาทราบภายหลังว่าถูกขายทอดตลาดไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำให้ชาวนารายนี้ประสบกับความเดือดร้อนเพราะเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกินไป และตนยังสงสัยเพราะตามระเบียบวิธีปฏิบัตินั้นทาง กฟก.จะปฏิบัติตามมติ ครม.ที่มีแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีเนื้อหา 3 ข้อคือ 1.เรื่องที่ยังไม่ได้ฟ้องร้องให้ชะลอการฟ้องร้องไว้ก่อน 2.หากฟ้องร้องและคดีถึงที่สุดแล้วให้ชะลอการบังคับคดีไว้ก่อน และ 3.หากถึงขั้นต้องขายทอดตลาดทรัพย์สินเกษตรกรก็ให้ชะลอไว้ก่อน
ส่วน มติ ครม. ดังกล่าวระบุเอาไว้ชัดเจนและแนวทางปฏิบัติก็ให้ทาง กฟก.ปฏิบัติไปพร้อมๆ กับสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธ.ก.ส.และที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา แต่ครั้งนี้กลับฝ่าฝืนมติ ครม.และไม่สอดคล้องกับระเบียบภายในของ ธ.ก.ส.เองที่มีหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามมติ ค.ร.ม.ทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ดังนั้นที่ผ่านมาทาง กฟก.จึงทำหนังสือถึง ธ.ก.ส.ให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อนมาแล้ว แต่เมื่อทราบว่าไม่ได้มีการงดแต่กลับได้ขายทอดตลาดที่ดินของเกษตรกรรายนี้ไปแล้ว จึงได้ทำหนังถึง ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ ที่ จ.เชียงราย ขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเสีย เพราะในกระบวนการขายทอดตลาดยังไม่สิ้นสุดเพราะผู้ที่เข้าซื้อที่ดินดังกล่าวได้วางเงินมัดจำที่ดินทั้ง 2 แปลงๆ ละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 100,000 บาท จากนั้นได้ไปปักป้ายประกาศขาย โดยขยายเวลาการชำระเงินกับสำนักงานบังคับคดีไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันทาง กฟก.ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจาก ธ.ก.ส.โดยได้รับแจ้งเพียงว่าได้ยื่นเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการแล้วเท่านั้น ตนจึงเกรงว่าหากกรณีนี้มีการขายทอดตลาดได้สำเร็จและที่ดินหลุดจากมือของชาวนาจะเป็นบรรทัดฐานให้นำไปใช้กับที่ดินของชาวนาที่เป็นสมาชิก กฟก.อื่นๆ ทั่วประเทศไทยได้จึงอยากให้ทุกฝ่ายยึดตามมติ ค.ร.ม.ดังกล่าว///