เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 บริษัทการท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดให้มีการประชุม “การศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกรณีการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย” ที่ห้องธรรมปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย การประชุมมี นายปรีชา อนุรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิด และ ดร.พุทธชาติ ชุณสาคร ผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม เป็นผู้ดำเนินการประชุมโดยมีการให้ข้อมูลเรื่องการพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ผลการศึกษาในอดีตและแผนการพัฒนาในอนาคต จากนั้นเปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นและกรอกแบบสอบถามเพื่อสรุปผลในเดือน มิ.ย.2561
ที่ประชุมมีการให้ข้อมูลว่าบริษัทการท่าอากาศยานไทย (จำกัด) มหาชน มีแผนพัฒนา 3 ระยะ
ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2561-2565 โดยมีเป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2568 เพื่อรองรับเที่ยวบินได้ 16 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เพิ่มหลุมจอดอากาศยานจากเดิมในปัจจุบันมีจำนวน 5-7 หลุมจอดให้เป็น 10 หลุมจอด สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนต่อปี และมีที่จอดรถยนต์ 1,200 คัน
ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2564-2569 มีเป้าหมายรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2573 เพื่อรองรับเที่ยวบินได้เท่าเดิมแต่เพิ่มหลุดจอดอากาศยานให้มากขึ้นเป็นจำนวน 12 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านคนต่อปี และยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้
ระยะที่ 3 ตั้งแต่ปี 2569-2574 เป้าหมายเพื่อรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้ถึงปี 2578 รองรับเที่ยวบินได้ 30 เที่ยวบินต่อชั่วโมง หลุมจอดอากาศยาน 13 หลุมจอด และรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 3.7 ล้านคนต่อปี มีทางขับขนานด้านทิศเหนือ โดยก่อนดำเนินการจะมีการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการมีส่วนร่วมไปจนถึงปลายเดือน มิ.ย.2561 นี้ ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 2 อำเภอ 8 ตำบลในเขต อ.เมืองเชียงราย และ อ.เวียงชัย เนื้อหามีทั้งด้านกายภาพ เสียง ปริมาณฝุ่นละออง น้ำ ระบบจัดการน้ำเสีย ฯลฯ ซึ่งตั้งแต่ปี 2558-2560 ที่ผ่านมาการศึกษาในท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
นายปรีชา กล่าวว่า ในปัจจุบันพัฒนาการทางการบินรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่องโดยผู้โดยสารให้ความนิยมเดินทางกันมากขึ้น ทำให้กิจการการบินมีการขยายตัวโดยเกิดสายการบินราคาต่ำหรือโลว์คอสมากขึ้นทำให้ผู้ต้องการเดินทางมากขึ้นตามมา โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่มีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานอย่างล้นหลามในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าอาจจะมีผลกระทบบ้างแต่เชื่อว่าการพัฒนาเพื่อรองรับความเจริญทางการบินจะอยู่ในเกณฑ์ที่สังคมรับได้
ดร.พุทธชาติ กล่าวว่าการศึกษาและจัดทำรายงานครั้งนี้เพื่อรองรับการพัฒนาทางการบินซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้บริการระดับนานาชาติ จึงต้องมีการดำเนินการให้มีความละเอียดรอบคอบเพื่อให้เกิดความยอมรับไปทั่วโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันการแข่งขันด้านความเป็นศูนย์ทางการบินระหว่างประเทศมีสูง เช่น ประเทศสิงคโปร์มีการพัฒนาสนามบินขนาดใหญ่ด้วยงบประมาณมหาศาล ฯลฯ สำหรับ จ.เชียงราย มีผู้โดยสารใช้บริการทะลุถึงปีละกว่า 2.5 ล้านคนแล้ว เราต้องถือว่ามีสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ดีทั้งต้นไม้และทุ่งนารายรอบซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในระแวกดังกล่าวก็เข้าใจการพัฒนาและสนับสนุนอย่างเต็มที่
จากข้อมูลบริษัทท่าอากาศยานไทย (จำกัด) มหาชน แจ้งว่าในปี 2558 ที่ผ่านมามีเที่ยวบินไปใช้บริการที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จำนวน 11,866 เที่ยวบิน มีผู้โดยสารจำนวน 1,517,160 คน และปี 2559 มีเที่ยวบิน 13,021 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นประมาณ 9.73% และมีผู้โดยสารจำนวน 1,816,147 คน ปัจจุบันยังมีสายการบินหลากหลาย เช่น เชียงราย–สุวรรณภูมิ เชียงราย–ดอนเมือง เชียงราย–ภูเก็ต ฯลฯ และยังมีสายการบินไปต่างประเทศ เช่น เชียงราย–ฮ่องกง เชียงราย–สิบสองปันนา ประเทศจีน ฯลฯ ทำให้คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย มูลค่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี แบ่งเป็นที่ 1 วงเงินประมาณ 3,700 ล้านบาท ระยะที่ 2 วงเงินประมาณ 600 ล้านบาท และระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท/////
งานพ่อขุนเม็งรา…
วันที่ 18 ธันวา…
สถานคุ้มครองสวั…
เมื่อวันที่ 15 …