จีนหนุน ไทย-เมียนมา วิจัยพื้นที่ลุ่มน้ำสาย-รวกแก้ปัญหาน้ำข้ามพรมแดน
25 กุมภาพันธ์ 2565 ที่โรงแรมเลอเมอริเดียนรีสอร์ท จ.เชียงราย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ร่วมกันเปิดประชุมปรึกษาหารือระดับภูมิภาค และนำเสนอรายงานโครงการวิจัยเรื่องการประเมินร่วมกันของประเทศไทยและเมียนมาเรื่องอุทกภัยและภัยแล้งเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามแดน โดยมีทางผู้แทนจากหน่วยงานของไทยและเมียนมาตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งประชาชนและเกษตรกร เข้าร่วมประชุม
ดร.สุรสีห์ เปิดเผยว่า แม่น้ำสาย-รวก เป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ และเป็นพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมา โดยมีต้นน้ำอยู่ที่ประเทศเมียนมา ไหลผ่านอำเภอแม่สาย และไหลลงแม่น้ำโขงที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำบริเวณตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประเทศไทย และตลาดท่าขี้เหล็ก จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลันในช่วงฤดูฝน ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเมืองและเขตเศรษฐกิจ รวมถึงประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาและทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ด้านล่างของลุ่มน้ำของประเทศไทย เช่น ในพื้นที่ ต.เกาะช้าง สายมิตรภาพ อ.แม่สาย เป็นต้น
ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ดังนั้น สทนช. ในฐานะหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายด้านน้ำ ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินโครงการวิจัย การประเมินร่วมของประเทศไทยและเมียนมา ด้านอุทกภัยและภัยแล้งเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และกองทุนพิเศษภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่ให้การสนับสนุนทุนจำนวน 2,450,000 หยวน หรือประมาณ 12 ล้านบาท (ช่วงเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ.2563-2564) เพื่อศึกษา วิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะวิธีการแก้ไข การบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำสาย-รวก ระหว่างสองประเทศ
ดร.สุรสีห์ กล่าวด้วยว่า งานวิจัยได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ออกเป็นรูปแบบของ Mobile Application สองภาษา ได้แก่ ภาษาไทยและภาษาเมียนมา ที่มีข้อมูลสถานการณ์น้ำ การวิเคราะห์น้ำท่วมและภัยแล้ง พร้อมทั้งการคาดการณ์ล่วงหน้า ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบข้อมูลและเตรียมพร้อมรับมือได้ทันสถานการณ์ มีการพัฒนาระบบแจ้งเตือนปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพการตั้งรับปรับตัวให้กับสังคมริมสองฝั่งแม่น้ำ มีแบบจำลองการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในการวางแผนและประกอบการตัดสินใจ ที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ หรือหน่วยงานท้องถิ่นสามารถนำไปใช้วางแผนบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดการน้ำระดับตำบลแบบมีส่วนร่วม เพื่อส่งต่อให้คณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินการ เป็นต้น
“ทั้งนี้่ในช่วงปี 2562 พื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ขาดน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาในหลายตำบลของ อ.แม่สาย และส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และล่าสุดช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และแขวงท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่เศรษฐกิจของไทยเป็นมูลค่ามากกว่า 17 ล้านบาท รัฐบาลไทยเล็งเห็นว่าข้อมูลปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง แผนพัฒนาและการเตือนภัยรวมทั้งข้อเสนอแนะ ที่ได้จากโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศไทย และเมียนมา จะเป็นพื้นฐานสำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในแม่น้ำระหว่างพรมแดนไทย-เมียนมาอย่างเป็นรูปธรรม และขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในอนาคตต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว
รศ.ดร.ชยาพร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีผู้เชี่ยวชาญละนักวิชาการที่มีความพร้อมในการวิจัย แม้สถานการณ์โควิด 19 จะเป้เนอุปสรรคในการวิจัยแต่ด้วยทางมหาลัยมีเครือข่ายทั้งในไทยและเมียนมา จึงทำให้วิจัยสนับสนุนองค์กรภาครัฐได้แบบสมบูรณ์และลงลึกถึงพื้นที่จริงๆ สามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แม้ปัจจุบันทางเมียนมาจะยังไม่ได้มีการติดตั้งสัญญาณเตือนยภัยในแม่น้ำสาย-รวก แต่ทางแแอพลิเคชั่นสามารถลิ้่งข้อมูลจากกรมอุตุวิทยาและข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในเมียนมา ในการนำข้อมูลอันเป้รนประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านหรือชุมชนได้
///