ท่าน ว.- อ.เฉลิมชัย ให้เกียรติสัมภาษณ์คัดเลือกผู้เรียน หลักสูตรพุทศิลปกรรม มฟล. รุ่นที่ 2 มุ่งสร้างศิลปินระดับประเทศ
สถาบันพุทธศิลปกรรมแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ จัดการสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกผู้เข้าศึกษา “หลักสูตรระยะสั้นสาขาวิชาพุทธศิลปกรรมมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงรุ่นที่ 2 พ.ศ. 2565” โดยได้รับความเมตตาจาก พระเมธีวชิโรดม (ท่านว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน และ ศาสตรเมธีดร.เฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)
ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ร่วมสัมภาษณ์คัดเลือกผู้เข้าศึกษาผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting) ร่วมกับคณาจารย์ประจำหลักสูตร คือ อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง อาจารย์มานิตย์ กันทะสัก อาจารย์วัชระ กว้างไชย์ อาจารย์กาญจนา ชลศิริ อาจารย์ขจรเดช หนิ้วหยิ่น อาจารย์วาทิตย์ เสมบุตร และ ผศ. ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง ทำการสัมภาษณ์ ณ อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) ซึ่งได้มีการเปิดรับสมัครพระภิกษุ สามเณร ประชาชนที่สนใจและมีความสามารถด้านศิลปะ เพื่อเข้าศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน ในหลักสูตรทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับที่ 1 พุทธศิลป์พื้นฐาน แผน ก (ทฤษฎี) และ แผน ข (ทฤษฎีและปฏิบัติ) ระดับที่ 2 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ และระดับที่ 3 พุทธศิลป์สร้างสรรค์ขั้นสูง
ศาสตรเมธีดร.เฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ได้กล่าวถึงแนวทางการศึกษาในหลักสูตร ความตอนหนึ่งว่า ความท้าทายของศิลปินและผู้เรียนในหลักสูตร ก็คือการพัฒนาผลงาน กรอบแนวคิด การทดลองการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบใหม่อยู่เสมอ เพื่อค้นหาและสร้างคุณค่าให้แก่ผลงาน ศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายท่านไม่มีการพัฒนาผลงาน และยึดติดรูปแบบเดิมๆ เนื่องจากได้รับการยอมรับรูปแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ผู้ชมงานศิลปะและเหล่านักสะสมมองเห็นคุณค่าในงานที่แตกต่างของศิลปินที่มีชื่อเสียงแต่ละท่าน โดยเฉพาะงานที่ผลิตออกมาอย่างจำกัด ศิลปินหลายท่านถึงทางตันเพราะไม่สามารถพัฒนางานของตนเองได้ หรือไม่อาจสร้างงานรูปแบบใหม่ๆ ได้
ดังนั้น หลักสูตรพุทธศิลปกรรม มฟล. นี้ นอกจากเจตนารมย์ในสืบสานงานพุทธศิลป์ และสร้างความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแล้ว ยังส่งเสริมการบริหารจัดการผลงานศิลปะ การนำเสนอและการเผยแพร่อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์ผลงานเพื่อการพัฒนางานของผู้เรียนอย่างตรงไปตรงมา และยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้จัดแสดงผลงานผ่านการจัดนิทรรศการในโอกาสต่างๆ ส่งเสริมการจัดจำหน่ายผลงาน โดยรายได้ส่วนหนึ่งเป็นของผู้เรียนและส่วนหนึ่งนำไปพัฒนาหลักสูตร และยังมีการส่งเสริมโอกาสให้ผู้เรียนนำผลงานส่งเข้าประกวด เพื่อเป็นการเผยแพร่ความสามารถและสร้างการยอมรับในแวดวงศิลปะ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือจะมีการปฐมนิเทศและขึ้นทะเบียนผู้เรียน รุ่นที่ 2 ในวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565 และเปิดเรียนในวันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565 โดยทำการเรียนการสอนในวันเสาร์และอาทิตย์ ณ พุทธศิลปกรรมสถาน มฟล.