Categories: ข่าว

สร้างแม่พันธุ์โคเนื้อเพิ่มรายได้เกษตรกรภาคเหนือ

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2561   นายไพโรจน์ เฮงแสงชัย อดีตรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเครือข่ายโคเนื้อล้านนาและรองอธิบดีกรมหม่อนไหม เป็นประธานในการเปิดการประชุมใหญ่เครือข่ายโคเนื้อล้านนา ที่ห้องประชุมธรรมปัญญา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยมี นายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายนำสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงโคเนื้อเข้าร่วมกว่า 250 คน มีการบรรยายโดยที่ปรึกษาเครือข่ายฯและเลือกตั้งประธานคนใหม่ ตลอดจนเลือกคณะกรรมการ ซึ่งในที่ประชุมมีมติเลือกนายนเรศให้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายฯ ตามเดิม

นายไพโรจน์ ยอมรับว่าในปัจจุบันวงการเลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยพบกับปัญหาที่ไม่สามารถหาคำตอบได้และเกิดขึ้นมานานคือการไม่สามารถระบุได้ว่าโคที่ตัวเองเลี้ยงเป็นสายพันธุ์ใดอย่างชัดเจน เพราะมีการผสมสายพันธุ์ไขว้กันไปมา เช่น อเมริกาบราห์มัน ชาโรเล่ส์ วากิว แองกัส กำแพงแสน ฯลฯ และในช่วงหลังมีพันธุ์ฮินดูบราซิลเข้ามาอีกทำให้การพัฒนาแม่พันธุ์พื้นฐานอยู่ในภาวะไร้ทิศทาง เพราะสายพันธุ์ไม่นิ่งทำให้คุณภาพเนื้อไม่ได้มาตรฐานชัดเจนและการวัดเกรดเนื้อต้องดูลักษณะไขมันแทรก(Marbling)เป็นสำคัญ เมื่อแม่พันธุ์พื้นฐานไม่มีความนิ่งทางพันธุกรรม จึงเกิดปัญหาในการผลิตโคขุนที่มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน

“สภาพเช่นนี้ไม่เหมือนกับการเลี้ยงโคเนื้อในต่างประเทศที่มีสายพันธุ์ที่นิ่ง จนสามารถคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์แท้ไว้ใช้ได้นับแสนๆ ตัวอย่างยาวนาน ขณะที่ประเทศไทยเราพบว่าพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดคือการผสมระหว่างอเมริกันบราห์มัน หรือสายพันธุ์ยุโรป เช่น ชาโรเล่ส์ แองกัส สายเลือด 50%-75% หากว่ามีการผสมจนสายเลือดยุโรปเกินกว่า 75% ปรากฏว่าลูกที่เกิดมาไม่ทนต่อสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย อ่อนแอและความต้านทานโรคต่ำ ต้องนำเอาวัวบราห์มันหรือพันธุ์ตากมาผสมเพื่อลดระดับหรือคงสายเลือดยุโรปไว้ ด้วยเหตุนี้ทั้งกรมปศุสัตว์และเครือข่ายฯจึงได้ค้นหาสายพันธุ์แท้โดยพบว่ามีโคเนื้อพันธุ์บีฟมาสเตอร์ที่เลี้ยงกันมากในประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาเป็นสายพันธุ์ไทยเพื่อสร้างมาตรฐานได้อย่างแท้จริง”

นายไพโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า โคเนื้อพันธุ์บีฟมาสเตอร์มีสายเลือดของพันธุ์อเมริกันบราห์มันผสมอยู่ด้วย 50% เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่ายโดยกินหญ้าแบบปกติธรรมทั่วไป ไม่ต้องอยู่ในร่มเลี้ยงแบบประคบประหงมเหมือนพันธุ์แท้อื่นๆจากยุโรป เมื่อเปรียบเทียบแล้วให้เปอร์เซ็นต์ซาก มากกว่าพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญสามารถอยู่ได้ในสภาพภูมิประเทศและอากาศของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี สามารถผสมเพื่อยกระดับจนเป็นบีฟมาสเตอร์พันธุ์แท้ เมื่อได้พันธุ์แท้จากสายพันธุ์นี้แล้วในอนาคตสามารถใช้พ่อพันธุ์บีฟมาสเตอร์พันธุ์แท้ คุมฝูงเพื่อผลิตโคขุนทดแทนการผสมเทียมในรูปแบบเดิมเพื่อลดปัญหาที่เกิดจากการผสมไม่ติด ซึ่งการผสมพันธุ์ลักษณะนี้ใช้กันอยู่ทั่วโลก

ตั้งเป้าเอาไว้ว่าอีก 15 ปีหลังจากนี้ เราจะมีวัวบีฟมาสเตอร์ สายพันธุ์ไทยแท้ที่มีคุณภาพและมีความชัดเจนด้านสายพันธุ์ซึ่งจะเป็นผลดีต่อวงการโคเนื้อของประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญโดยการอนุมัติงบประมาณสั่งซื้อตัวอ่อน(Ebryo)จำนวน 200 ตัวอ่อน และน้ำเชื้อจำนวน 5,000 โดส เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ ขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์มีพ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมเทียมอยู่แล้วจำนวน 4 ตัวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ โชคชัยยืนยงฟาร์ม มอบให้กรมฯเพื่อทำการรีดน้ำเชื้อและนำไปให้บริการแก่เกษตรกรทั่วประเทศนายไพโรจน์ กล่าวว่า

สำหรับตลาดโคเนื้อถือว่าสดใสแต่ต้องมีการพัฒนาโดยพบว่าประเทศจีนมีการนำเข้าผ่านประเทศไทยที่ท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ในระบบปีละกว่า 100,000 ตัว ส่วนหนึ่งเป็นโคจากประเทศเมียนมาที่นำเข้าทาง อ.แม่สอด จ.ตาก และจากภาคใต้ เช่น จ.ชุมพร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ ซึ่งตลาดจีนรับซื้อจำนวนมากแต่เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องโรคระบาดและสารเร่งเนื้อแดงจึงทำให้จีนมีการเข้มงวดในการนำเข้าโคมีชีวิตมากขึ้น

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันประเทศไทยพยายามทำข้อตกลงกับทางการจีนเพื่อให้ได้มาตรฐานโคเนื้อส่งออกจากประเทศไทย ซึ่งหากตกลงกันได้ก็มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการเลี้ยงโคเนื้อโดยเฉพาะใน 8 จังหวัดภาคเหนือที่เป็นเมืองหน้าด่านเพื่อการส่งออกจะต้องพัฒนาฟาร์มของตัวเองอย่างเร่งด่วนเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การส่งออก โดยเฉพาะในฐานะที่ จ.เชียงราย เป็นเมืองหน้าด่าน ต้นทุนการขนส่งต่ำ น้ำหนักโคไม่สูญเสียมากเพราะขุนได้ในพื้นที่ไม่ผ่านการขนส่งระยะไกล ซึ่งการพัฒนาสายพันธุ์โคเนื้อบีฟมาสเตอร์ดังกล่าวก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการสำคัญที่จะทำให้เราสามารถได้มาตรฐานโคเนื้อตรงกับความต้องการของตลาดได้อย่างยั่งยืนได้ต่อไป โดยเฉพาะหากประเทศจีนยอมรับในการดำเนินการฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม Good Farming Management (GFM) ของไทย

ด้านนายนเรศ กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือมีสมาชิกประมาณ 200 ราย มีแม่พันธุ์โคเนื้อที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้ประมาณ 1,300 ตัว ตามปกติจะขุนโคเนื้อเพื่อจำหน่ายโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6-8 เดือน ราคาจำหน่ายซื้อขายกิโลกรัมละประมาณ 100-105 บาท ซึ่งต่อจากนี้ไปเครือข่ายฯก็จะพยายามส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์บีฟมาสเตอร์ เพื่อสร้างมาตรฐานของแม่โคพื้นฐาน โดยการที่จะได้วัวบีฟมาสเตอร์ สายพันธุ์ไทยแท้จะต้องนำมาผสมพันธุ์กันอีก 5 ชั่วอายุหรือใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 15 ปี กระนั้นก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นเพื่อให้วงการโคเนื้อไทยเข้าสู่มาตรฐานและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป

////

Kao Krai News

Recent Posts