โรงพักเมืองเชียงราย ดูแลประชาชน และ ป้องกันอาชญากรรม “สมาร์ท เซฟตี้ โซน 4.0”
วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์ปฎิบัติการสั่งการและควบคุม(CCOC) สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย พ.ต.อ.กิตติพงษ์ สุขวัฒนพันธ์ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) ร่วมกับภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม(Big 6) ประกอบด้วยฝ่ายตำรวจ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานไม่หวังผลกำไรอื่นๆ และสื่อมวลชน เพื่อขับเคลื่อน ติดตามผลการดำเนินงานและแสวงหาความร่วมมือในการยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ พร้อมเยี่ยมชมการปฎิบัติเจ้าหน้าที่ประจำห้องศูนย์ควบคุมสั่งการ CCOC ของ สภ.เมืองเชียงราย
พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทยไว้ว่าประเทศไทยมีความมั่นคงมั่งคั่ง ยังยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวรัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะใช้โมเดลขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นระบบราชการ 4.0 ดังนั้นระบบราชการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับบริบทที่จะเกิดขึ้น ภาครัฐจะต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงจำเป็นจะต้องปฏิรูประบบการทำงานให้รองรับและขับเคลื่อนนโยบายของฐบาลในเรื่องดังกล่าวโดยคำนึงถึงพันธกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในด้านการรักษากฎหมายการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมและการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน แนวคิดของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. คือ “ผู้หญิงสามารถเดินคนเดียวได้ในเวลากลางคืน ทุกจุดของพื้นที่ Safety Zone 4.0 ได้อย่างปลอดภัย” ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย จึงได้มอบหมายให้ สภ.เมืองเชียงราย เป็นสถานีตำรวจนำร่องในโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0
พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย จึงได้จัดทำโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 มีวัตถุประสงค์ในการยกระดับการป้องกันอาชญากรรม ผสมผสานกับแนวความคิดเรื่องเมืองอัจฉริยะโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่นการติดตั้งกล้องวงจรปิด CCTV แบบอัจฉริยะ(Smaet CCTV) เชื่อมโยงกับห้องศูนย์ควบคุมและสั่งการของ สภ.เมืองเชียงราย รวมถึงการใช้แอพฟรีแอพพลิเคชั่น Police 4.0 การติดตั้งตู้แดงแบบ QR-Code ในจุดเสี่ยงจุดล่อแหลมครอบคลุมทั้งพื้นที่ การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์เป็นต้น ทั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม เบื้องต้น สภ.เมืองเชียงราย จึงได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีความสำคัญในทุกมิติ เนื้อที่ประมาณ 1.5 ตารางกิโลเมตรในตำบลเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย ประกอบไปด้วย 9 ชุมชน คือชุมชนเกาะลอย ชุมชนเทิดพระเกียรติ ชุมชนกลองยาว ชุมชนรั้วเหล็กเหนือ ชุมชนรั้วเหล็กใต้ ชุมชนศรีเกิด ชุมชนวัดพระแก้ว ชุมชนเจ็ดยอด และชุมชนราชเดชดำรง เป็นพื้นที่นำร่องในโครงการดังกล่าว
พ.ต.อ.กิตติพงษ์ กล่าวต่อว่า ในการทำงานมีการประสานภาคีเครือข่ายป้องกันอาชญากรรม(Big6)ประกอบไปด้วย 1.หน่วยงานตำรวจ ซึ่งเป็นสถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่โครงการเป็นเจ้าภาพหลัก 2.ภาคประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ตัวแทนประชาชน 3.องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการ เช่น อบจ. หรือเทศบาล 4.ภาคธุรกิจ เอกชน บริษัท ห้างร้าน ผู้ประกอบกิจการต่างๆในพื้นที่ 5.หน่วยงานภาครัฐ อำเภอ โรงพยาบาล สถานศึกษา หน่วยงานทหาร และ 6.สื่อมวลชน เพื่อมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ติดตาม นำเสนอข้อเสนอแนะ เสียงสะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้สู่สาธารณะชนทั่วไป
การดำเนินการในระยะที่ผ่านมานับว่ามีผลเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน ได้มีความอุ่นใจ อย่างไรก็ตามการดำเนินงานจะได้ผลดีและประสบผลสำเร็จก็จะเกิดมาจากการประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจและภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมมือกันดำเนินการ แต่ก็ยังมีจุดที่จะปรับปรุงเพื่อให้ดียิ่งๆขึ้นไป และอยากเชิญชวนผู้ประกอบการภาคเอกชนและราชการในพื้นที่ ให้เชื่อมโยงระบบกล้องวงจรปิดมาที่ห้อง CCOC เพื่อใช้ป้องกันปราบปรามอาชญกรรมอย่างทันท่วงที และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน บุคคลทั่วไป รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษา ให้โหลดแอป police i lert u ซึ่งเป็นแอปบริการรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายผ่านสมาร์ทโฟน ขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้ 24ชั่วโมง ทุกพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย.