มฟล.-ธ.ออมสิน หนุน นศ. ร่วมวิสาหกิจกรรมชุมชน จัดโครงการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น

แชร์ข่าว

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย ส่วนจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (MFii) ร่วมกับ ธนาคารออมสินภาค 9 จัดกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2565 ภายใต้โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษา 5 ทีม ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการย่อยในการเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชุน 5 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และยังมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก มฟล. เป็นที่ปรึกษาให้อีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. ให้เกียรติกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งยังมี นางสาวปรียาธรณ์ เมืองมา ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินภาค 9, นายฐากร กันทะบัวตอง ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, ดร.ชลิดา ธนินกุลภรณ์ หัวหน้า MFii พร้อมด้วยตัวแทนวิสาหกิจกรรมชุมชน เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ได้นำเสนอโครงการย่อยฉบับสมบูรณ์กับคณะกรรมการ ณ ห้อง M for U อาคาร M-Square มฟล.

ศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา วงศ์เกษมจิตต์ รองอธิการบดี มฟล. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมีพันธกิจที่จะส่งเสริมการศึกษาวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ ในการพัฒนาชุมชนและสังคม ด้วยความเชื่อมั่นว่าการเสริมสร้างให้ชุมชนและสังคมเข้มแข็งและปลอดภัย เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้มีความมั่นคง และมีความมุ่งมั่นในการสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการปลูกป่าสร้างคน โดยมุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นขุมพลังทางปัญญาของสังคม ที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนให้ชุมชนและสังคมมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน”

“สำหรับโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อก่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางของรัฐบาลและธนาคารออมสิน จึงได้มีแนวทางการบูรณาการภูมิปัญญาของท้องถิ่น ร่วมกับวิทยาการสมัยใหม่ของสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างกระบวนการในการเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของกลุ่มองค์กร ชุมชน กลุ่มโอท็อป และกลุ่มอาชีพ ที่มีศักยภาพให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีศักยภาพแข่งขันในตลาด มีระบบบริหารจัดการที่ดี”

“และประเด็นสำคัญคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จะได้มีความรู้กว้างขวาง ไม่เฉพาะเนื้อหาในบทเรียน สามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และทำงานร่วมกับชุมชน เกิดความเข้าใจ หวงแหน สานต่อเอกลักษณ์และคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดกระบวนการการเรียนรู้นอกห้องเรียน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว คือชุมชนสามารถก้าวเดินต่อไปได้ด้วยตนเอง อย่างมั่นคงและยั่งยืน” รองอธิการบดี มฟล. กล่าว

โดยผลการประกวดการนำเสนอโครงการ มีดังนี้

1. รางวัลชนะเลิศ ทีม What’s up ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรดอำเภอเมืองเชียงราย

2. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ทีม CBT ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรวิถีชุมชน ณ บ้านนอก

3. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ทีมขะมุขิคิ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกอ้อยอินทรีย์เชียงรายและสมุนไพร 

4. รางวัลชมเชย ทีมพรนับพัน ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวพุทธเกษตรอินทรีย์ บ้านสันป่าเหียง 

5. รางวัลชมเชย ทีมคิมิโนโต๊ะ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน

ข่าวอื่นๆ