ข่าว

กรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเวที ขับเคลื่อนการวางผังนโยบายระดับประเทศ

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีนางสาวจริยาพร จิตต์ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักผังประเทศและผังภาคเป็นผู้กล่าวรายงานการประชุมครั้งนี้เป็นรูปแบบการประชุมแบบ On-Site และการประชุมด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (VDO Conference) ผ่านระบบ Zoom Webinar เพื่อร่วมแสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างผังนโยบายระดับประเทศ โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการวางผังนโยบายระดับประเทศ ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบาย และยุทธศาสตร์ของการพัฒนาประเทศ ในด้านการใช้พื้นที่ การพัฒนาเมืองและชนบท การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ผังนโยบายระดับประเทศ ขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างสมดุล สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยกล่าวถึงภารกิจด้านการพัฒนาเมือง ซึ่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562 กำหนดให้ กรมวางและจัดทำผังเมืองทุกระดับ ให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความสามารถ ในการรองรับการเปลี่ยนแปลง หรือการพัฒนาของพื้นที่ เพื่อเป็นกรอบชี้นำการพัฒนา ทางด้านกายภาพในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด


กรมจึงได้ดำเนินการ วางและจัดทำผังนโยบายระดับประเทศ เพื่อใช้เป็น กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศ ด้านการใช้พื้นที่ การพัฒนาเมืองและชนบท โครงสร้างพื้นฐานหลัก การรักษาทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ ซึ่งนโยบายของผังนโยบายระดับประเทศ จะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยการถ่ายทอดลงสู่การจัดทำแผน ผังโครงการพัฒนาพื้นที่ทุกระดับ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสม กำหนดแกนการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค ส่งเสริมการตั้งถิ่นฐาน และการพัฒนาเมืองในพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมการพัฒนาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ และจัดโครงสร้างพื้นฐานหลัก ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน พร้อมแข่งขันในเวทีโลก

ในขณะเดียวกัน ได้กำหนดโซนอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ชายฝั่งทะเล แหล่งมรดกที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน กำหนดพื้นที่ป้องกัน และบรรเทาปัญหาอุทกภัย อนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ และสร้างความมั่นคงด้านน้ำในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และครัวเรือน นอกจากนั้น ผังนโยบายระดับประเทศ ได้กำหนดกรอบนโยบาย การพัฒนาในแต่ละภาค โดยชี้นำการพัฒนา ให้สอดคล้องกับบทบาท และศักยภาพของพื้นที่ ชี้ประเด็นสภาพปัญหาเชิงพื้นที่ของภาคที่สำคัญ ซึ่งควรดำเนินการวางแผน เพื่อการแก้ไขปัญหา และเพื่อให้ผังนโยบายระดับประเทศ เป็นแผนแม่บทด้านกายภาพ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ ของประเทศอย่างเป็นองค์รวม ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สร้างโอกาสการมีงานทำ โดยให้มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และการเข้าถึงบริการทั้งในพื้นที่เมือง และชนบท เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

จากการประชุม รับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ทุกภาคส่วนได้เห็นพ้องร่วมกัน ในการกำหนดวิสัยทัศน์ของผังนโยบายระดับประเทศ “เชื่อมโยงการพัฒนาทุกมิติ สร้างสรรค์นวัตรกรรม พร้อมรับการเติบโตอย่างยั่งยืน” ซึ่งกรมได้นำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมทั้ง 6 ภาค มาบูรณาการร่วมกับแผนการพัฒนาประเทศรายสาขา เพื่อจัดทำร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ของประเทศและกรอบนโยบายการพัฒนาภาคในขั้นตอนต่อมา โดยถ่ายทอดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาลงสู่พื้นที่แต่ละภาคนอกจากนั้นภายในงานจะมีช่วงเสวนาวิชาการในหัวข้อ Future Thailand Toward 2037 : อนาคตประเทศไทยต้องรู้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่านประกอบด้วย

ศ.ดร. กิตติ ประเสริฐสุข หัวข้ออนาคตด้านความเชื่อมโยง การอธิบายถึงที่มาและความสำคัญของกรอบความร่วมมือของประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และ จีนที่เข้ามามีบทบาทกับภูมิภาคของเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การถ่ายทอดมุมมองการเชื่อมโยงผ่าน 3 มิติหลัก ได้แก่ มิติกายภาพของเมืองและโครงสร้างพื้นฐาน มิติด้านพลังงาน และมิติบุคคล ซึ่งการพัฒนาประเทศไทยในอนาคตนั้นต้องมีการกระจายความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมฐานเศรษฐกิจเพื่อรองรับกิจกรรมระหว่างประเทศ และการพัฒนาเมืองหลักระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งระยะใกล้และระยะไกล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว รวมทั้งการเสนอแนะพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อเป็นยกระดับขีดความสามารถด้านการเชื่อมโยงของประเทศให้สูงยิ่งขึ้น


ดร. นนท์ อัครประเสริฐกุล นวัตกรรมในบริบทของการพัฒนาประเทศ การอธิบายสถานการณ์แนวโน้มที่น่าสนใจด้านนวัตกรรมของประเทศในยุคปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในหลากหลายมิติ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สามารถนำมาพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบหรือทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะบริบทด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ควรให้ความสำคัญเพื่อที่จะก้าวไปสู่สังคมยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงพื้นที่สำคัญและองค์ประกอบของเมืองอัฉริยะทั้ง 7 ข้อที่ควรส่งเสริมในการพัฒนาประเทศในบริบทด้านนวัตกรรม เพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ


ศ.ดร. วิลาศ นิติวัฒนานนท์ หัวข้ออนาคตด้านความยั่งยืน ได้อธิบายถึงการพัฒนาร่วมกับมิติความเชื่อมโยงของประเทศด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน มิตินวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมในการลดความเสี่ยงและเพิ่มความยั่งยืนในการพัฒนาทุกมิติของเมือง รวมถึงความท้าทายในการสร้างความสมดุลในบริบททางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และความท้าทายด้านความเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการจัดการเชิงพื้นที่ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงระหว่างคนและธรรมขาติที่ต้องคำนึงถึงการเคลื่อนย้ายประชากร กิจกรรมการใช้พื้นที่และโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลต่อความต้องการการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอร่าง“ร่างกรอบนโยบายการใช้พื้นที่ประเทศ และภาค”จาก รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญการวางผังภาคและเมือง ให้กับผู้ร่วมประชุมทุกท่านได้ทราบถึงภาพรวมของโครงการ การวิเคราะห์สถานการณ์ ตลอดจนการประเมินศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่นำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ เชื่อมโยง นวัตกรรม ยั่งยืน และสะท้อนออกมาเป็นกรอบการใช้พื้นที่ของประเทศและภาคในอนาคต 20 ปี

Kao Krai News

Recent Posts