ข่าว

ทำบัตรประชาชนผู้เฒ่าอาข่า หลังได้สัญชาติไทยรอมานกว่า50ปี

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่   14 พฤศจิกายน 2565 ที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวง นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้นำ ผู้เฒ่าเชื้อสายอาข่าจากบ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวน 14 คน ได้เดินทางมาถ่ายบัตรประชาชน โดยเป็นการแปลงสัญชาติจากชนกลุ่มน้อยเป็นไทย ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ระยะเวลาอย่างรวดเร็วเพียง 2 ปี เนื่องจากได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์สำคัญที่เป็นอุปสรรค โดยผู้เฒ่าที่มีอายุ 72-79 ปี ต่างแต่งชุดชาติพันธุ์อาข่าอย่างสวยงาม โดยมีญาติพี่น้องเดินทางจากหมู่บ้านเดินทางมาร่วมแสดงความยินดีที่ผู้เฒ่าได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์

โดยความรู้สึกของผู้ที่ได้รับบัตรประชาชนครั้งแรกในชีวิต ทุกคนต่างบอกว่า รู้สึกดีใจอย่างมากๆ ที่ได้เป็นคนไทยอย่างถูกต้อง แต่คนที่ดีใจมากกว่าน่าจะเป็นลูกหลาน เพราะว่าพ่อแม่ก็ได้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา แล้วก็ได้เป็นไทยแท้ ลูกหลานที่ไปทำงานหรือไปข้างนอก ไปทำงานในเมือง นายจ้างหรือคนอื่นก็มักจะถามว่าพ่อแม่มีสัญชาติอะไร เมื่อต้องลงเอกสารว่าพ่อแม่เป็นพม่า ลูกหลานก็จะไม่ค่อยสบายใจ ตอนนี้ทุกคนสบายใจได้เป็นคนไทย พร้อมที่จะทำหน้าที่ประชาชนไทยให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินการตามขั้นตอน จนทำให้ผู้เฒ่าเหล่านี้ได้สัญชาติไทย และกล่าวว่า ผู้เฒ่าที่ได้ถ่ายบัตรประชาชนครั้งนี้เป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ซึ่งที่มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ 175 ราย ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 และต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 ตุลาคม 2565 นั้น มีชนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติจากจังหวัดเชียงราย 32 รายซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ในความร่วมมือด้วยดีระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ

กรณีศึกษาผู้เฒ่าสัญชาติที่ดำเนินการโดยมูล พชภ.ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง 14 ราย และ อ.เชียงของ 3 ราย รายใช้เวลาเพียง 2 ปี นับจากวันที่คณะทำงานระดับจังหวัดเห็นชอบ จากกรณีทั่วไปที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปี อันเป็นผลจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้แปลงสัญชาติไทย ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ เพื่ออำนวยความสะดวก มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมสำหรับผู้เฒ่าที่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยยาวนานกว่า 40-50 ปี มีความกลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นชาวไทย

นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุมัติการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับผู้เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นชนกลุ่มน้อย ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพื่อลดปัญหา อุปสรรคในการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ให้ยกเว้นเกณฑ์รายได้  การเสียภาษี การถูกตรวจสอบประวัติและความประพฤติโดย 5 หน่วยงาน และยกเว้นความรู้ภาษาไทยกลาง โดยให้ใช้ภาษาถิ่นไทยได้ 

การแปลงสัญชาติของกรณีศึกษาผู้เฒ่าไร้สัญชาติในครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ตามการประกาศคำมั่นของผู้แทนไทย ในการประชุมสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR ) ข้อ 5 ที่จะแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้สัญชาติทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาวะของกลุ่มเปราะบาง-ผู้สูงอายุ

ว่าที่ร้อยตรีพงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ในพื้นที่มีประชากร 7.7 หมื่นคน และมีผู้ไม่มีสัญชาติ 1.5 หมื่นคน อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้เฒ่านั้น มีอยู่ประมาณ 705 คน และได้ส่งเรื่องไปจังหวัดแล้ว 573 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 132 คน

////

Kao Krai News

Recent Posts