เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่พระธาตุดอยตุง ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) พระเซ็งกิม กตสิทโธ เจ้าอาวาสวัดกิ่วกาญจน์ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ เชียงใหม่ นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมกันแถลงข่าว เตรียมจัดการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม “ต๋ามฮอยศรัทธา 2005 ปี๋เมินมา หกเป็งวันทา ไหว้สาพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง” ประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2566 ในเวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งตรงกับประเพณี สรงน้ำพระธาตุดอยตุง
พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) กล่าวว่า สำหรับประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง จัดขึ้นเป็นประจำ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 หรือเดือน 6 เหนือของทุกปี เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และอนุรักษ์เผยแผ่ ส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณีของเหล่าพุทธศาสนิกชนให้มีความมั่นคงและยั่งยืน อีกทั้งเป็นทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพราะพระธาตุดอยตุง ถือว่าเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเชียงราย
ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ (ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่พระเจ้าอชุตราชได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ แล้วจึงได้ให้ทำตุง (ธง) มีความยาว 1,000 วา ปักบนยอดเขา หากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยเจ้ามังรายนราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัติ พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ เจ้ามังรายนราชจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นเป็นต้นมาพระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้
พระเซ็งกิม กตสิทโธ เจ้าอาวาสวัดกิ่วกาญจน์ ผู้ริเริ่มการจัดการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสมฯ กล่าวว่า ในยุคปัจจุบัน การรับสื่อของเกือบทุกคน รวมทั้งเยาวชน และวันรุ่น จะผ่านโซเซียล ทำให้การอ่านหนังสือลดลง จึงมีแนวคิดว่า นำการแสดงแสง สี เสียงสื่อผสมฯ มาจัดแสดงเรื่องพระธาตุดอยตุง ในบทละคร จะเป็นสิ่งเข้าถึงทุกคนได้ง่ายและรวดเร็ว จึงได้กราบนำเรียน ขออนุญาต พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เพื่อดำเนินการ ซึ่งเชื่อว่า การจัดดังกล่าวจะทำให้ทุกคนรู้จักพระธาตุดอยตุงมากขึ้น และเดินทางมาท่องเที่ยว มาขอพร จนเป็นที่มาของการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนตามมา โดยการแสดงจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2566 เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป
ทางด้านนายประจญ ปรัชญ์สกุล อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และ เชียงใหม่ กล่าวว่า ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีอย่างมาก ที่ได้จัดการแสดงแสงสีเสียงสื่อผสม “ต๋ามฮอยศรัทธา 2005 ปี๋เมินมา หกเป็งวันทา ไหว้สาพระมหาชินธาตุเจ้าดอยตุง” โดยในวันที่ 5 มีนาคม และ วันที่ 6 มีนาคม 2566 ประกอบด้วยการเดินจาริกแสวงบุญ “เตียวขึ้นดอย ตวยฮอยครูบา ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” โดยเริ่มปล่อยขบวนเดินจาริกแสวงบุญ ณ วัดศาลาเชิงดอย ต.ห้วยไคร้ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ผู้ร่วมเดินจาริกแสวงบุญจะได้รับเหรียญที่ระลึก “ 2005 ปีสืบมา หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง ” ออกแบบโดย อาจารย์ทรงเดช ทิพย์ทอง
กิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม และการสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น พิธีตักน้ำทิพย์ พิธีเจริญพระพุทธมนต์ อบรมสมโภช เทศน์สวดเบิก ณ วิหารวัดน้อยดอยตุง กิจกรรมแสง สี เสียง ณ ลานวัดพระธาตุดอยตุง และในวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม 2566 ประกอบด้วยกิจกรรมขบวนน้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรพระราชทาน ผ้าห่มพระธาตุพระราชทาน และเครื่องสักการะ พิธีถวายเครื่องสักการะ พระธาตุดอยตุง พิธีนมัสการและสรงน้ำ พิธีห่มผ้าพระธาตุดอยตุง พิธีสืบชะตาหลวงล้านนา พร้อมขบวนชาติพันธุ์ 18 ชาติพันธุ์ ขบวนมวลชนและเครื่องสักการะของส่วนราชการ 18 อำเภอและทุกภาคส่วนรวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น.
งานพ่อขุนเม็งรา…
วันที่ 18 ธันวา…
สถานคุ้มครองสวั…
เมื่อวันที่ 15 …