3 เมษายน 2566 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร.) ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการรับสมัครผู้จะรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พื้นที่ จ.เชียงราย ซึ่งมีจำนวน 7 เขตเลือกตั้ง ซึ่งพบว่ามีบุคคลที่ถูกคาดการณ์ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งพากันเดินทางไปสมัครตามคาดเขตละ 8-10 คน และเนื่องจากแต่ละคนเดินทางมาก่อนเวลารับสมัครตั้งแต่ 08.30 น.เป็นต้นไป ทำให้ กกต.จัดให้มีการจับสลากเพื่อเรียงลำดับหมายเลขของแต่ละคนทำให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความครึกครื้นเพราะต้องลุ้นหมายเลข ขณะที่ภายนอกหอประชุมมีบรรดาผู้ให้การสนับสนุนผู้สมัครแต่ละคนถือป้ายไปรอติดหมายเลขกันอย่างคึกคักโดยพบว่าผู้มาจากพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
โดยนายปรพล พูตระกูล ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (กกต.)เชียงราย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจมีผู้มาสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมากและส่วนใหญ่มาก่อนเวลาทำให้ต้องมีการจับสลากหมายเลขและลำดับการสมัคร ซึ่งการรับสมัครเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีความแตกต่างตรงที่การลงคะแนนจะต้องกาบัตรจำนวน 2 ใบ ซึ่งอาจจะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสับสนบ้าง ซึ่งจะได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจ และระเบียบการหาเสียงก็เข้มงวดอยากให้ทางผู้สมัครศึกษาให้ดี เพื่อจะได้ไม่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้งซึ่งอาจทำให้เสียงสิทธิ์ในการเลือกตั้งได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผู้สมัครรับการเลือกตั้งครั้งนี้พบว่าหลายคนเป็นอดีต ส.ส.ทั้งอยู่กับพรรคเดิม และบางคนย้ายไปอยู่พรรคใหม่ ขณะที่บางคนเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่เคยสนับสนุนหรือเป็นลูกหม้อเดียวกัน ก็หันไปสมัครแข่งขันกันเอง ส่วนหลายคนเป็นคนรุ่นลูกของอดีต ส.ส.ที่หันมาลงสมัครรับเลือกตั้งพร้อมกับผู้เป็นบิดาที่หันไปลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ อย่างไรก็ตามผู้สมัครหลายคนได้แสดงความกังวลเนื่องจากมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ทำให้หลายพื้นที่อดีต ส.ส.หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่ลงสมัครหลายคนไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ใหม่ทำให้ต้องสับเปลี่ยนโยกย้ายป้ายหาเสียงกันอย่างคึกคัก ทั้งนี้การเปิดรับสมัครวันแรกเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจากนั้นแต่ละฝ่ายแยกย้ายไปหาเสียงและรอการประกาศรับรอบการสมัครจาก กกต.ต่อไป
ทางด้าน ร.ต.อ.ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี หรือต้นน้ำ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตเลือกตั้งที่ 1 บุตรชายของนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย และนางรัตนา จงสุทธานามณี อดีต นายก อบจ.เชียงราย ซึ่งทั้งสองคนได้เดินทางมาให้กำลังบุตรชายด้วย กล่าวว่า ตนจับสลากได้หมายเลข 2 ถือว่าเป็นเลขที่ดี ทั้งนี้ตนไม่ได้ยึดติดหมายเลข จะได้หมายเลขอะไรก็ได้ ตนรู้สึกมั่นใจและมีความหวัง วันนี้เป็นก้าวแรกของประะชาธิปไตยในประเทศไทยและเป็นก้าวสำคัญที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ ตนจะนำเสนอความตั้งใจของตนและนโยบายของพรรคไปหาเสียงกับประชาชน เร่งแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมทั้งด้านกฎหมายต่างๆ ที่ยังล้าหลังอยู่
“ในฐานะเป็นผู้สมัคร ส.ส.หน้าใหม่ที่จะต้องต่อสู้กับอดีต ส.ส.และผู้สมัครอาวุโสหลายคน ตนก็จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อขอทำงานให้กับประชาชน โดยตนอยากเห็นการเมืองแบบสร้างสรรค์ การเมืองเชิงนำเสนอ หากต่างคนต่างทำงานเสนอสิ่งที่ดีให้กับประเทศโดยผ่านเวทีเลือกตั้งครั้งนี้ ก็จะช่วยกันสร้างอนาคตสร้างความหวังให้กับคนทุกกลุ่มในประะเทศ” ร.ต.อ.ดร.ธนรัช กล่าว พร้อมกันนี้ ร.ต.อ.ดร.ธนรัช ยังได้กล่าวเป็นภาษาอังกฤษเชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่แม้จะเป็นช่วงการเลือกตั้งนี้ด้วย
ด้านนายอิทธิเดช แก้วหลวง ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย เขต 6 อดีต ส.ส.เชียงราย แต่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพ่ายให้กับนายพีระเดช คำสมุทร จากพรรคก้าวไกล ซึ่งในครั้งนี้มาลงสมัครในสีเสื้อพรรคภูมิใจไทย โดยนายอิทธิเดช หมายมั่นที่จะทวงเก้าอี้คืน โดยเปิดเผยว่า การสมัครราบรื่นดี ตนได้หมายเลข 1 แต่การเลือกครั้งนี้มีการแบ่งพื้นที่ใหม่ มีพื้นที่เพิ่มจากที่ตนเคยหาเสียงไว้ประมาณครึ่งหนึ่ง ทำให้จะต้องเร่งหาคะแนนในพื้นที่ ที่เพิ่มเติมมา ตนมั่นใจในนโยบายของพรรคและการคัดเลือกตัวบุคคลมาลงสมัคร อย่างตนมีการส่งเสริมการค้าชายแดน ซึ่งเชื่อว่าจะได้การสนับสนันสนุนจากประชาชน
นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่ครั้งมาสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย เขตเลือกตั้งที่ 5 กล่าวว่า เรื่องหมายเลขผู้สมัครไม่ไช่ปัญหาเพราะเป็นหมายเลขเดียวอยู่แล้ว เลขอะไรก็ได้ เน้นแนวทางหาเสียงมากกว่า ซึ่งพรรคภูมิใจไทยเน้นพบปะชาวบ้านแบบกลุ่มย่อย ไม่เน้นปราศรัยใหญ่ การที่ตนย้ายพรรคจากพรรคเพื่อไทยมาอยู่พรรคอื่นก็อาจมีผลบ้างกับฐานคะแนนบางกลุ่ม แต่การเลือกตั้งหนนี้กาบัตร 2 ใบ แยกลงคะแนนพรรคกับผู้สมัคร ซึ่งหากประชาชนไว้วางใจก็คงไม่มีผลกระทบอะไรมาก ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งย่อมมีการแข่งขันทุกเขต ซึ่งก็สนุกดี แต่เขตของตน ตนมั่นใจเพราะตนไม่ได้แข่งขันใครแต่แข่งกับตนเอง พรรคเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งแต่ที่สำคัญคือตัวบุคคลมากกว่า พรรคเปรียบเหมือนสีเสื้อที่สวยงามใครก็อยากสวมใส่ แต่หากคนๆ นั้นใส่แล้ว ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนเสื้อตัวนั้นก็อาจไม่สวยก็ได้
รายชื่อและเขตเลือกตั้ง ส.ส.เชียงราย ทั้ง 7 เขตเลือกตั้ง
เขตเลือกตั้งที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย 11 ตำบลคือ ต.เวียง ต.ริมกก ต.ท่าสาย ต.แม่กรณ์ ต.แม่ยาว ต.บ้านดู่ ต.รอบเวียง ต.สันทราย ต.ป่าอ้อดอนชัย ต.ดอยลาง และ ต.ห้วยชมภู มีผู้สมัครได้หมายเลข 1 คือว่าที่ ร.ต.กิตติพัทธ์ เลี้ยงประเสริฐ พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 2 ร.ต.อ.ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี พรรคเพื่อไทย หมายเลข 3 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ พรรคก้าวไกล หมายเลข 4 นายไอใจ ปู่หมื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 5 นายอภิชิต ศิริชัย พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 6 นายสมนึก ใจจักร์ พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 7 นายศรัณย์พัส ศรีสวัสดิ์ พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 8 นายทโนรส ปริญาพัฒนบุตร พรรคเสรีรวมไทย และหมายเลข 9 นายเอกภพ เพียรพิเศษ พรรคภูมิใจไทย
เขตเลือกตั้งที่ 2 ประกอบด้วย ต.นางแล ต.แม่ข้าวต้ม ต.ท่าสุด อ.เมืองเชียงราย ไปร่วมกับ อ.เวียงชัย และ อ.เวียงเชียงรุ้ง รวมทั้งนำเอา ต.แม่จัน ต.ป่าตึง ต.ป่าซาง ต.ท่าข้าวเปลือก และ ต.สันทราย อ.แม่จัน หมายเลข 1 นายเสน่ห์ ปัญญาดี พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 2 นายสถิตพงศ์ พงษ์ธรบพิทย์ พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 3 ส.ต.ต.ชมชาติ กัปปะหะ พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 4 น.ส.ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช พรรคเพื่อไทย หมายเลข 5 นายรัตน์ธนวัตร พุทธจันทร์ พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 นายธนพล วรรณรัก พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 7 นางวันดี ราชชมภู พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 8 นายนิกร จันทร์หอม พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 9 นายวิฑูรณ์ ราชตรี พรรคท้องที่ไทย และหมายเลข 10 นายพุทธสวาท จาอินต๊ะ พรรคเสรีรวมไทย
เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อ.แม่ลาว อ.แม่สรวย และ อ.เวียงป่าเป้า หมายเลข 1 นายจิราวุฒิ แก้วเขื่อน พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 2 นายสมคิด มะโนวงค์ ไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 3 นายหาญ ดอนลาว พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 นายวันชัย เจียมวิจักษณ์ พรรคชาติไทยพัฒนา หมายเลข 5 พ.ต.อ.รัฐพล น้อยช่างคิด พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 6 นายนิคม นามเสถียร พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 7 นายฐากูร ยะแสง พรรคก้าวไกล หมายเลข 8 นายวิกรม เตชะธีราวัฒน์ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 9 นายรชฎ อึ้งอภินันท์ พรรคไทยสร้างไทย และหมายเลข 10 นายเรืองฤทธิ์ พวกอินแสง พรรคเสรีรวมไทย
เขตเลือกตั้งที่ 4 ประกอบด้วย ต.ดอยลาน และ ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ไปรวมกับ อ.พาน และ อ.ป่าแดด หมายเลข 1 นายสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ พรรคชาติไทยพัฒนา หมายเลข 2 นายอัครเดช สมพบ พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 3 นายนเรศ รัศมีจันทร์ พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 5 นายบุญถิ่น นวลใหม่ พรรคร่วมไทยสร้างชาติ หมายเลข 6 นายเจริญ บุญเลิศ พรรคก้าวไกล หมายเลข 7 นายทัศพงษ์ สุวรรณมงคล พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 8 นายเกียรติศักดิ์ อุดขา พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 9 นายสฤษฎ์ อึ้งอภินันท์ พรรคไทยสร้างไทย
เขตเลือกตั้งที่ 5 ประกอบด้วย อ.เทิง อ.ขุนตาล อ.พญาเม็งราย และ ต.บุญเรือง อ.เชียงของ หมายเลข 1 น.ส.นิชนันท์ ปริญญาพัฒนบุตร พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 2 นายพันธวัช ภูผาพันธกานต์ พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 3 นายสิริวัฒน์ นาโพนงาม จากพรรคก้าวไกล หมายเลข 4 นายรังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 5 นายธนพัต รักเรียน พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 6 นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ พรรคเพื่อไทย หมายเลข 7 นายสมบูรณ์ ร่มพนาธรรม พรรคร่วมไทยสร้างชาติ หมายเลข 8 นายชูชาติ วิศิษฎ์ลานนท์ พรรคไทยสร้างไทย
เขตเลือกตั้งที่ 6 ประกอบด้วย อ.แม่สาย อ.แม่ฟ้าหลวง ถูกจัดให้รวมกับ 4 ตำบลของ อ.แม่จัน คือ ต.แม่คำ ต.แม่ไร่ ต.ศรีค้ำ และ ต.จอมสวรรค์ หมายเลข 1 นายอิทธิเดช แก้วหลวง พรรคเพื่อไทย หมายเลข 2 นางจุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม พรรคก้าวไกล หมายเลข 3 นายระพิน เตมียะ พรรคพลังประชารัฐ หมายเลข 4 พล.ต.สุวิทย์ วังยาว พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 5 นายกฤษฎ์ชัยณัช วงศ์สมพฤกษ์ พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 6 นายอุดมเดช ดวงแก้ว พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 7 น.ส.อมรรัตน์ รัตนาชัย พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 8 นายพีระเดช คำสมุทร พรรคภูมิใจไทย
เขตเลือกตั้งที่ 7 ประกอบด้วย ต.จันจว้า และ ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน และรวมเอา อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง และ อ.เชียงของ 6 ตำบลยกเว้น ต.บุญเรือง และ อ.เวียงแก่น หมายเลข 1 นายปิยะวัฒน์ ปิยะวัฒน์หิรัณย์ พรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 2 ร.ต.อ.ดอน สมควร พรรคเสรีรวมไทย หมายเลข 3 น.ส.มิรันตี บุญแก้ว พรรคภูมิใจไทย หมายเลข 4 นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ พรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 5 นายประหยัด เสียงดัง พรรคก้าวไกล หมายเลข 6 นายรัชพล อินทจักร์ พรรคชาติไทยพัฒนา หมายเลข 7 นายบัวสอน ประชามอญ พรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 8 นายบุญเลิศ จางวงศ์เจริญ พรรคไทยศรีวิไลย์ หมายเลข 9 นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน พรรคเพื่อไทย หมายเลข 10 นายบุญเกิด ร่องแก้ว พรรคพลังประชารัฐ