เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 ที่โรงแรมวัฒนกูล รีสอร์ท ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นางทิพวรรณ เชื้อเจ็ดตน นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพจังหวัดเชียงราย หรือ สธวท.เชียงราย นำกรรมการและผู้เกี่ยวข้องกับ สมาคมฯ แถลงข่าว การดำเนินงานของสมาคมฯ ระหว่างปี 2566-2567 โดยนางทิพวรรณ ให้เหตุผลว่า เนื่องจาก จ.เชียงราย มีศักยภาพโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นในฐานะเป็นองค์กรที่เป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่ก็จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด โดยมีโครงการต่างๆ ที่จะต้องดำเนินการตลอดระยะเวลา 2 ปี
ซึ่งมีหลายโครงการ คือ โครงการความศรัทธาในพุทธศาสนาและจิตอาสา โครงการความยั่งยืนการทอผ้า สานผ้าเชียงราย โครงการพัฒนาศักยภาพโรงแรม จ.เชียงราย โครงการพัฒนาร้านอาหารและบุคลากร จ.เชียงราย โครงการพัฒนาสินค้า จ.เชียงราย โครงการจำหนายสินค้าสมาคมฯ
ด้าน นางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์ ประธานกิจกรรมพิเศษของสมาคมฯ และประธานโครงการความยั่งยืนการทอผ้า สานผ้าเชียงราย กล่าวว่า จ.เชียงราย มีความหลากหลายของชาติพันธุ์โดยเฉพาะมีจำนวน 10 ชาติพันธุ์ที่มีลวดลายผ้าที่งดงามไม่มีใครทัดเทียมได้ ดังนั้นโครงการจึงจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและร่วมกับแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในการนำลวดลายมาพัฒนาเพื่อใช้กับเครื่องแต่งกายต่างๆ ในยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว
โดยกลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นจากทั้งหน่วยงานราชการ พนักงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชนทั่วไป นักท่องเที่ยว ฯลฯ และยังมีตลาดต่างประเทศโดยอยู่ระหว่างร่วมกับทางประเทศอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฯลฯ เพื่อขับเคลื่อนตลาดนี้อยู่ ทั้งนี้ได้รวบรวมกี่ทอผ้าเพื่อการผลิตแล้วกว่า 30 กี่ทอ ซึ่งจะสร้างรายได้ตั้งแต่ระดับต้นน้ำต้นคือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นต้นแบบของลายผ้าและปลายน้ำคือผู้ค้าขายได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ นางพลอยปภัส จรัสวรรณพงษ์ ประธานโครงการจำหน่ายสินค้าสมาคมฯ กล่าวว่าโครงการได้ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 10 กลุ่มใน อ.แม่สาย พัฒนาสินค้าให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันอยู่ตลอดโดยส่วนใหญ่จะเป็นของที่ระลึกเพื่อนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนจะเริ่มวางจำหน่ายได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2566 นี้เป็นต้นไปในหลายตลาดทั้งศูนย์การค้าเซ็นทรับพลาซา สาขาเชีงราย โรงแรมวัฒนกูล รีสอร์ท การจำหน่ายผ่านออนไลน์และออฟไลน์ต่างๆ ฯลฯ
นางพนอ คำหล้าทราย ประธานโครงการพัฒนาร้านอาหารและบุคลากรเชียงราย กล่าวว่าเมื่อนักท่องเที่ยวไปเยือน จ.เชียงราย นอกจากจะหาซื้อสินค้าประเภทเครื่องแต่งกายจากลดลายผ้าต่างๆ ดังกล่าว และซื้อของที่ระลึก ยังต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพดังนั้นโครงการจึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน ฯลฯ จัดอบรมผู้ประกอบการเพื่อให้ได้อาหารที่อร่อยแลปลอดภัย จัดทำ Soft Power ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เกี่ยวกับอาหารเชียงรายซึ่งอร่อยไม่แพ้อาหารจากที่ใดๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ไปเยือน ฯลฯ ตั้งเป้าให้มีร้านค้าเข้าร่วมโครงการได้ 100 กว่าร้านภายในปี 2566 นี้ และจะจัดมหกรรมอาหารหรือ Food Festival โดยมีสมาคมฯ เป็นองค์กรนำให้ได้ปีละ 1 ครั้งให้ได้
นางมลธิชา ไชยบาล โครงการพัฒนาศักยภาพโรงแรม จ.เชียงราย กล่าวว่า จะร่วมกับโรงแรมต่างๆ ในเครือข่ายประมาณ 30 แห่งใน จ.เชียงราย พัฒนามาตรฐานเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่นักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นระดับ 3 ดาวจนถึง 5 ดาว โดยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรม ประชุมสัมมนา ฯลฯ เพื่อให้ให้สามารถรองรับผู้ไปเยือนได้อย่างประทับใจต่อไป…
งานพ่อขุนเม็งรา…
วันที่ 18 ธันวา…
สถานคุ้มครองสวั…
เมื่อวันที่ 15 …