วันที่ 22 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสํานักงาน จ.เชียงราย ร่วมกันเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จัดทำแผนพัฒนาเชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพหรือ Chiang Rai Wellness City โดยมีภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพรวมทั้งบรรดาผู้ประกอบการห้องพักโรงเรียน รีสอร์ท เวชภัณฑ์ ฯลฯ เข้าร่วมครบครัน กิจกรรมจัดให้ ดร.ระวิวรรณ์ เจริญทรัพย์ ผู้อํานวยการศูนย์บริการสุขภาพแบบครบวงจรแห่งภาคเหนือและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ําโขง (MFU WELLNESS CENTER) มฟล.จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกฝายเพื่อนำไปยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
โดยนายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ถือเป็นองค์กรที่ได้ขับเคลื่อนโดยมีเป้าหมายด้านการดูแลสุขภาพอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาอาจยังขาดการได้รับการสนับสนุนหรือผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มที่ ดังนั้นเมื่อตนได้เข้ามารับตำแหน่งที่ จ.เชียงราย ช่วงปลายปี 2565 เป็นต้นมา จึงได้ผลักดันให้เป็นจังหวัดแห่งสุขภาพหรือ Wellness City และให้มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นศูนย์กลางเพื่อขยายผลออกไปยังวงกว้างทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป ซึ่งต่างก็จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือน จ.เชียงราย มากขึ้นเพราะมีเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพเป็นจุดขาย
สิ่งสำคัญคือเส้นทางคมนาคมหลายด้านกำลังมุ่งสู่ จ.เชียงราย ไม่ว่าจะเป็นรถไฟเด่นชัย-เชียงของ ในปี 2571 และยังมีถนนมอเตอร์เวย์คู่ขนานกับถนนอาร์สามเอเชื่อมเชียงราย-สปป.ลาว-จีน ซึ่งปัจจุบันมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะทำให้การเดินทางจากไทย-จีน บนมอเตอร์เวย์นี้ใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นการเตรียมการรองรับเพื่อเป็น Wellness City ในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นที่น่ายินดีที่มี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ซึ่งคงจะต้องนำผลงานวิจัยที่ได้มาขยายผลและคอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะศูนย์กลางของ Chiang Rai Wellness City ต่อไป
ทางด้าน ผศ.ดร.มัชฌิมา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) มีความพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนของจังหวัดในการให้เป็นพื้นที่พิเศษในการพัฒนาอุตสาหกรรม Wellness โดยมีความพร้อมด้านบุคลากรและมีศาสตร์การแพทย์ที่สามารถบูรณาการในแต่ละสำนักวิชาที่เปิดทำการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี ได้แก่ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักวิบชาทันตแพทยศาสตร์ สำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟิ้นฟูสุขภาพ สำนักวิชาแพทยบูรณาการ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งมีทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนจีน กายภาพบำบัด ฯลฯ.