เมื่อวันที่ 8มิถุนายน2561 นายสัมฤทธิ์ สวามิภักดิ์ ปลัดจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “โคขุนเชียงราย เนื้อโคคุณภาพ ท้องถิ่นล้านนา” ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน256 ที่ลานกิจกรรมกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า สาขาเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย จัดโดยสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายโคเนื้อล้านนานำโดยนายนเรศ รัศมีจันทร์ ประธานเครือข่ายฯ เข้าร่วม ภายในงานมีการจำหน่ายเนื้อโค แข่งขันประกวดการทำอาหารจากเนื้อโคขุน การแสดงบนเวที ตลาดสินค้าประชารัฐ ท่ามกลางความสนใจของผู้คนเพราะเนื่องจากการส่งเสริมด้านการเลี้ยงและจำหน่ายเนื้อโคขุนในพื้นที่เชียงราย
ที่ผ่านมาประชาชนมีการปลูกพืชเกษตรกันเป็นจำนวนมากทำให้พืชบางชนิดประสบปัญหาราคาตกต่ำ ขณะที่การเลี้ยงโคเนื้อนั้นเดิมมีความเข้าใจกันว่าสามารถเลี้ยงได้ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคกลาง แต่เมื่อพบว่าในปัจจุบันทางเครือข่ายโคเนื้อล้านนามีการเลี้ยงโคเนื้อได้อย่างมีมาตรฐานทำให้ทุกภาคส่วนส่งเสริมอย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งการพัฒนาการเลี้ยงก็ต้องขึ้นอยู่บนพื้นที่ฐานการสร้างมาตรฐานที่ดีเพื่อให้ได้ตลาดที่มีคุณภาพ ซึ่งก็เชื่อว่าอาชีพนี้จะเป็นอนาคตที่ดีของเกษตรกรชาวเชียงรายได้เป็นอย่างดีต่อไป
จากข้อมูลของพาณิชย์จังหวัดเชียงรายพบว่า ปัจจุบันอาชีพที่สามารถสร้างรายได้คือการเลี้ยงโคเนื้อเพราะพบว่าระหว่างปี 2550-2557 ปริมาณการเลี้ยงลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะรัฐบาลที่ผ่านมามีการส่งเริมให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นแทนและมีการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อขาดแรงจูงใจทั้งการเลี้ยงและจำหน่าย นอกจากนี้บางส่วนถูกส่งเข้าโรงเชือดและส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศทำให้ปริมาณเนื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากสถานการณ์นี้ทำให้ จ.เชียงราย เล็งเห็นโอกาสที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดี มั่นคงและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนนโยบายอาหารปลอดภัยสู่ครัวโลก จึงได้มีการส่งเสริมโดยส่วนหนึ่งคือการจัดงานนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรต่อไป
ด้านนายนเรศ กล่าวว่า ปัจจุบันเครือข่ายมีสมาชิก 291 ราย มีโคเนื้อประมาณ 1,300 ตัว โดยเครือข่ายมีรับประกันราคาซื้อขายให้สมาชิกอย่างชัดเจน ซึ่งเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงโคขุนได้โดยปัจจุบันเน้นเลี้ยงพันธุ์บีฟมาสเตอร์เป็นหลักเพราะเหมาะสมกับประเทศไทยและได้คุณภาพมาก ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าตลาดมีความต้องการเนื้อโคขุนอย่างมากกว่าเดือนละ 300 ตัว แต่ปรากฎว่าเรากลับไม่สามารถผลิตให้ได้ทันดังนั้นการส่งเสริมการเลี้ยงจึงเป็นสิ่งที่ดี กระนั้นปัญหาในพื้นที่คือยังไม่มีโรงเชือดมาตรฐานตั้งอยู่โดยต้องนำโคไปดำเนินการพื้นที่ จ.พะเยา ซึ่งเสียต้นทุนไปเที่ยวละกว่า 4,000-5,000 บาท ล่าสุดจึงได้หารือกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอเปิดโรงเชือดโคขุนมาตรฐานซึ่งใช้งบประมาณราว 15 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นผลในปี 2562-2563 ซึ่งก็จะสามารถยกระดับการพัฒนาการเลี้ยงและการจำหน่ายโคขุนในพื้นที่ จ.เชียงราย ได้เป็นอย่างดีต่อไป.
///