มฟล. ร่วมพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นมฟล.

แชร์ข่าว

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นใน จ.เชียงราย รองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษที่ 21

วันที่ 15 กันยายน 2566 ที่อาคารพลเอกสำเภา ชูศรี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จ.เชียงราย นางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีนำเสนอผลงานตาม “โครงการพัฒนาครูมัธยมศึกษาตอนต้นใน จ.เชียงรายให้เป็น Learning Coach ผ่านการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ขับเคลื่อนด้วยชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community:PLC) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ศตวรรษที่ 21” โดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินกทร 1 ปี ตั้งแต่เดือน ต.ค.2565–ก.ย.2566 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูมัธยมศึกษาตอนต้นจาก 50 โรงเรียน จากเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงรายตั้งแต่เขต 1-4 รวม จำนวน 150 คนเข้าร่วม โดยที่ผ่านมามีการจัดฝึกอบรม การจัดรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัยและก้าวทันต่อเทคโนโลยี ฯลฯ

จากนั้นจัดประกวดผลงานทางวิชาการและคัดเลือกมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับจังหวัด ก่อนเปิดโอกาสให้ครูที่ชนะเลิศนำผลงานมานำเสนอจำนวน 5 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีผลงานเลิศด้านการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ คือว่าที่ ร.ต.เกศยา กล้าณรงค์ จากโรงเรียนร่องธารวิทยา อ.พาน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นผลงานด้านการสอนทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ชั้นสูง น.ส.ศิรินทิพย์ สกิจกัน โรงเรียนบ้านราษฎร์ภักดี อ.เทิง  จ.เชียงราย ซึ่งนำเสนอเทคนิคการสอนวิชาศิลปะ (นาฎศิลป์) การสอนแบบเกมการสอนเพื่อพัฒนาความกล้าแมดงออกที่มีผลต่อการเรียน นายกิตติพล นิธิเบญจพล จากโรงเรียนบ้านด้ายเทพกาญจนาอุปภัมภ์ อ.แม่สาย  จ.เชียงราย ซึ่งเป็นผลงานการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องกิจวัตรในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาการสื่อสารด้วยภาษาจีน น.ส.อภิญญา ไชยลังการ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิกเษก อ.เชียงของ  จ.เชียงราย นำเสนอการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสอนเพือการสื่อสาร และ น.ส.สาวินีย์ หมื่นลาง โรงเรียนบ้านปางขอน อ.เมืองเชียงราย  จ.เชียงราย นำเสนอการพัฒนาความสามารถการคิดวิเคราะห์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง “การพัฒนาครูในบริบทที่เปลี่ยนไป” ว่าปัจจุบันสังคมอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย และผู้เรียนหรือนักเรียนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีจนสามารถสืบค้นข้อมูลได้เองโดยเฉพาะผ่านระบบอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้สภาวะของโลกเกิดความผันผวนและไม่แน่นอนขึ้นหลายเรื่อง เช่น บางครั้งเกิดไวรัสโควิด-19 ระบาด ฯลฯ ซึ่งสภาวะะนี้เรียกว่า VUCA World หรือความผันผวนของโลก ดังนั้นครูจึงต้องปรับตัวให้ได้เพื่อสอนลูกศิษย์ให้เรียนรู้ได้ตามเป้าหมาย โดยใช้วิธีการหาโอกาส ใช้ระบบดิจิตอลให้ได้ และกำหนดวิธีคิดหรือ Mindset ใหม่โดยอย่ายึดติดว่าเรามีความรู้อยู่แล้วแต่ให้เพิ่มการศึกษาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอเพื่อให้เท่าทันด้วย

ผศ.ดร.มัชฌิมา กล่าวด้วยว่า มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาครูใน จ.เชียงราย เพราะดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 โดนช่วยพัฒนาเทคนิคการสอนของครู การสร้างสื่อการสอนที่ทันสมัยตรงกับความต้องการของผู้เรียน การพัฒนาเนื้อหาในทุกกลุ่มสาระวิชา พร้อมทั้งการเสริมทักษะและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนและผู้เรียน ฯลฯ และได้มีกาต่อยอดในปี 2566 อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพและมีความสามารถไม่ด้อยจังหวัดอื่นๆ อย่างแน่นอน

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการเข้าไปร่วมกับโรงเรียนท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มีขึ้นตั้งแต่ประมาณ 25 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังเป็นอธิการบดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประสบปัญหานักเรียนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ไม่สามารถปรับตัวหรือเรียนรู้ได้กับการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย ทั้งๆ ที่มีผลการเรียนที่ดี ทำให้ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เริ่มมีโครงการต่างๆ ที่เข้าไปร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาและยกระดับนักเรียนให้สามารถเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้จนถึงปัจจุบัน.

ข่าวอื่นๆ