เปิดศูนย์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้ได้รับผลกระทบอิสราเอล พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจญาติ

แชร์ข่าว

วันที่ 29 ตุลาคม 2566 แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการสาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ได้เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (ศูนย์ EOC) กรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล โดยมี นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นำคณะผู้บริหาร สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลชุมชน และคณะทำงานกลุ่มภารกิจต่างๆ เข้าร่วม และรับฟังขั้นตอนการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย 

ทั้งนี้การดำเนินการเปิดศูนย์ฯ ทางกระทรวงสาธารณสุข ให้ถือว่าเป็นหน่วยสนับสนุนในการช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหมายถึงแรงงานที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล ญาติ และครอบครัว โดยจังหวัดเชียงรายมีแรงงานไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความไม่สงบ จำนวน 2,174 คน มากเป็นอันดับสองของประเทศ 

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการสาธารณสุขนิเทศเขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า “ทีม MCATT” หรือ “ทีมสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือทางด้านจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต” ของจังหวัดเชียงราย ทั้ง 18 อำเภอ ได้จัดทีมลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน และดูแลจิตใจคนไทยที่กลับมาถึงภูมิลำเนาแล้วทุกครอบครัว ส่วนคนไทยในอิสราเอลที่ยังไม่กลับมานั้น ทางครอบครัวยังเฝ้ารอ และต้องติดตามข่าวความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งความเครียด ความกังวล ความกลัว ทั้งนี้ได้มอบให้ทีม MCATT จังหวัดเชียงราย ติดตามให้การดูแลอย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้แรงงานไทยได้เดินทางกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้ประชาชนแสดงความห่วงใยถามไถ่อย่างเหมาะสม ” ในหลัก 3 ไม่ ” ได้แก่ ไม่ถามซ้ำ ถึงเหตุการณ์ความรุนแรง เพื่อไม่ให้สร้างรอยแผลอันจะนำไปสู่ความเสียใจ, ไม่ตอกย้ำ ถึงขั้นตอน สถานที่การดำเนินชีวิต หรือลำดับเหตุการณ์อันจะทำให้คิดถึงภาพความรุนแรงที่ยังติดอยู่ในความคิด และ ไม่รื้อพื้น ถึงการตัดสินใจไปทำงาน

นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าทีม MCATT จังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 3,473 ราย โดยจัดกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม แยกเป็นกลุ่ม A คือ ผู้บาดเจ็บ/ตัวประกัน/ผู้สูญหาย รวมถึงญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับผลกระทบข้างต้น จำนวน 33 คน (เสียชีวิต 1 ราย, บาดเจ็บ 1 ราย, สูญหาย 1 ราย และกลุ่มญาติ 30 ราย) กลุ่ม B คือ แรงานไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงหรือปานกลาง รวมถึงญาติของกลุ่มดังกล่าวจำนวน 3,397 คน (หมายถึง กลุ่มผู้ไม่บาดเจ็บที่กลับมาแล้ว 164 ราย กลุ่มคนไทยที่ยังอยู่ในอิสราเอล 953 ราย กลุ่มญาติของคนไทยในอิสราเอลที่ยังไม่กลับมา และกลับมาแล้ว 2,280 ราย) กลุ่ม C คือ ประชาชนที่รับรู้เหตุการณ์ และผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 43 คน ทีม MCATT ได้ ดำเนินการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิต และเยียวยาจิตใจด้วยการให้ปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้น 

การจัดการความเครียด และภาวะวิกฤตทางใจ เพื่อลดความเจ็บป่วยด้านจิตใจในอนาคต ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้กำหนดแนวทางการดูแลจิตใจแรงงานไทย ในสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลใน แต่ละกลุ่มออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะวิกฤต (Impact Phase), ระยะปรับตัว ( Post-Impact Phase) และ ระยะฟื้นฟู (Recovery Phase) 

จากนั้นคณะ ได้ลงพื้นที่ ต.ห้วยสัก อ.เมือง จ.เชียงราย เยี่ยมให้กำลังใจญาติแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล ร่วมกับนายวิรัตน์ วงศ์มา แรงงานจังหวัดเชียงราย นายโสภณ  แก้วล้อมทรัพย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย 

ทั้งนี้ ด้านแรงงานจังหวัดเชียงรายและพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ได้ให้ความมั่นใจว่า หากแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ประเทศอิสราเอลให้กลับมาตั้งหลักที่ประเทศไทยบ้านเกิดก่อน หากเหตุการณ์สงบรัฐบาลไทยพร้อมจะสนับสนุนให้กลับไปทำงานใหม่อีกครั้งอย่างสุดความสามารถ…

ข่าวอื่นๆ