วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เรียวกังคาเฟ่ ตำบลบัวสลี อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักศิปลวัฒนธรรมร่วมสมัยจังหวัดเชียงราย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมทางการศึกษาในหัวข้อ “สิ่งอันตรธานที่ต้องประสงค์” The desirable vanishing things เป็นการทำงานศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ร่วมกับศิลปินกลุ่มปังร็อค ซุลาป ในระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566 โดยมี รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วยกลุ่มศิลปินในจังหวัดเชียงราย สภาเยาวชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และผู้ที่สนใจในงานศิลปะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมทั้งกลุ่มศิลปินปังร็อค ซุลาป เป็นกลุ่มศิลปินชนพื้นเมืองจากรัฐซาบะฮ์ บนเกาะบอร์เนียว ประเทศมาเลเซีย ดำเนินการทำกิจกรรมร่วมกัน
รศ.ดร.พลวัฒ ประพัฒน์ทอง หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 โดยได้นำกลุ่มศิลปินปังร็อค ซุลาป มาร่วมในการถ่ายทอดผลงานศิลป การทำงานศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้ ทั้งในรูปแบบตามคิด และการแกะไม้ตามภาพที่ต้องการ โดยศิลปะเหล่านี้จะมีความสวยงาม ตามรูปแบบการแกะไม้ในรูปแบบต่างๆ
รศ.ดร.พลวัฒ กล่าวว่า สำหรับงานไทยแลนด์ เบียนนาเล่ ปังร็อค ซุลาป ได้มาพำนักในจังหวัดเชียงรายเป็นเวลาหนึ่งเดือนแล้วเพื่อศึกษาเรียนรู้ทางด้านนิเวศวัฒนธรรมกับชุมชนชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขง อิง และกก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของแม่น้ำ และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนแม่ลาว เรื่องราวจากชุมชนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ขนาดใหญ่ จัดแสดงอยู่ภายในกระท่อมซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่นาใกล้หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย นอกจากใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงาน กระท่อมยังเป็นพื้นที่สำหรับ การพบปะแลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ผลงาน และทำกิจกรรมทางศิลปะร่วมกัน
การจัดกิจกรรมทางการศึกษาร่วมกับกลุ่มปังร็อค ซุลาป เพื่อขับเคลื่อนมิติทางสังคมในโลกปัจจุบันที่ได้แยก ธรรมชาติ ออกจากวัฒนธรรมสร้างวิกฤตในยุคที่หลายคนเรียกว่า ‘แอนโทรโปซีน’ (Anthropocene) มนุษย์ได้กลายเป็นสปีชีส์ที่สร้างผลกระทบให้กับโลกมากที่สุด ช่วงเวลาที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมีนัยสำคัญ ศิลปิน กลุ่ม Pangrok Sulap ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้วยงานศิลปะทำให้งานศิลปะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม นโยบายของรัฐ และความคิดทำลายล้างโลกของมนุษย์ ในการแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 ได้จัดทำ กิจกรรมทางการศึกษาขึ้นเพื่อให้เยาวชน และชุมชนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงโลกด้วยตนเอง ทำให้ วัฒนธรรมกับธรรมชาติสมดุลระหว่างกัน
รศ.ดร.พลวัฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มศิลปินปังร็อค ซุลาป เป็นกลุ่มศิลปินชนพื้นเมืองจากรัฐซาบะฮ์ บนเกาะบอร์เนียว มาเลเซีย ปังร็อค หมายถึง พังค์ร็อค และ ซุลาป หมายถึง กระท่อม ซึ่งเรียกขานถึงสถานที่พักผ่อนของชาวนาในรัฐซาบะฮ์กลุ่มประกอบด้วยศิลปินจากหลากหลายสาขา ภัณฑารักษ์ นักเขียน นักวิจัย นักเคลื่อนไหว นักดนตรี นักออกแบบกราฟิก ผู้ประกอบการหัตถกรรมและอื่นๆ ความหลากหลายคือส่วนสำคัญที่ช่วยให้กลุ่มเข้มแข็งและมีพลวัตมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของกลุ่ม และนอกเหนือจากพันธกิจในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผ่านงานศิลปะแล้วนั้น ทางกลุ่มยังได้มีการจัดทำนิทรรศการศิลปะ โครงการและความร่วมมือเพื่อพัฒนาสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการศึกษาของชุมชนหลายแห่ง
“จุดจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ยังเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่จะจัด พาวิลเลียนศิลปะ ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ที่นักท่องเที่ยว ศิลปินจากทั่วโลก จะมาเที่ยวชม การถ่ายทอดผลงานศิลปะ ออกมาเป็นหุ่นฟางในทุ่งนา ที่ชาวบ้าน ศิลปินร่วมกันออกแบบ หุ่นฟางตามแนวคิดของตัวเอง ว่าตัวตนที่แท้จริงในความคิดเป็นอย่างอย่างไร ซึ่งจะสื่อออกเป็นแนวศิลปะทั้งหมด โดยจะมีหลากหลายหุ่นฟาง ใบหน้าที่ต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังมีตลาดศิลปะที่ยิ่งใหญ่ จะสื่อออกไปถึงชาวเชียงรายชื่นชอบในงานศิลปะ จนเป็นสามารถทำเป็นอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้” หัวหน้าพิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าว////
งานพ่อขุนเม็งรา…
วันที่ 18 ธันวา…
สถานคุ้มครองสวั…
เมื่อวันที่ 15 …