วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วันชัย ศิริชนะ นายกสภามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมด้วยผู้บริหาร ร่วมต้อนรับคณะคณะทำงานสนับสนุนข้อมูลการวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ประธานกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เป็นประธานในการประชุมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสมุนไพร จัดที่ ที่ห้องคำมอกหลวง อาคาร M-Square มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
ซึ่งการประชุมอยู่ภายใต้โครงการศูนย์กลางความรู้ต้นแบบด้านสมุนไพรเพื่อการใช้ประโยชน์ทางสุขภาพอย่างยั่งยืน Hub of Knowledge: Herbs for sustainable health and well-being เพื่อให้เกิดการพัฒนาและพลิกโฉมสมุนไพรไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา คณะทำงานสนับสนุนข้อมูลการวิจัยทางคลินิกและการจัดการข้อมูลการใช้สมุนไพรในคน ในคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ผู้เชี่ยวชาญจากกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เครือข่ายโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย ที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านสมุนไพร รวมถึงผลิตวัตถุดิบต้นทาง หน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย องค์การเภสัชกรรม สมาคม/สมาพันธ์ มูลนิธิขับเคลื่อนงานด้านสมุนไพร และเครือข่ายภาคเอกชนมากกว่า 40 หน่วยงาน
สำหรับการพัฒนาและพลิกโฉมสมุนไพรไทยนั้น มีความจำเป็นต้องพัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาสมุนไพร โดยการจัดตั้งเครือข่าย (Consortium) ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ด้านการวิจัยสมุนไพร และพัฒนากลไกที่ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดกระบวนการทำวิจัยร่วมกันตลอดจนการพัฒนารูปแบบ (Template) การเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การพัฒนาฐานข้อมูลสมุนไพรใน Knowledge Hub ที่มีรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และการวิเคราะห์ช่องว่างของการวิจัยและพัฒนางานด้านสมุนไพร (Gap analysis) ที่เป็นสมุนไพรเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 เพื่อส่งเสริมให้เกิด Hub of Knowledge ที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ และประชาสัมพันธ์ Hub of Knowledge ด้านสมุนไพรของประเทศไทย
นอกจากนี้ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการงานวิจัยด้านสมุนไพร และบูธผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากเครือข่ายภาคเอกชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพืชสมุนไพรและผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน.