เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม กรมชลประทาน พร้อมคณะ ลงพื้นที่เตรียมการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ ซึ่ง “โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ” จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ในลุ่มน้ำคำ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะสามารถช่วยพื้นที่การเกษตรกว่า 75,000 ไร่ ที่มีทั้งปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมหลากซ้ำซากในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรในอำเภอแม่จัน โครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ ตั้งอยู่บ้านสามัคคีใหม่ ตำบลแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
“ขณะนี้โครงการอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการ และจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2567 อ่างเก็บน้ำแม่คำมีความจุประมาณ 51.73 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะได้รับงบประมาณก่อสร้างประมาณปลายปี 2569 หรือ 2570 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง” นายพิเชษฐกล่าว
เมื่อดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำแล้วเสร็จ จะช่วยให้การทำการเกษตรมีแหล่งน้ำถาวรเพิ่มขึ้น ทำการเพาะปลูกในฤดูฝนได้เต็มประสิทธิภาพประมาณ 67,000 ไร่ ลดปัญหาฝนทิ้งช่วง ส่วนฤดูแล้งจะสามารถทำการเกษตรเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 48,900 ไร่ สามารถส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคได้ประมาณ 1.8 ล้าน ลบ.ม./ปี ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มริมน้ำแม่คำ ประมาณ 1,200 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ รักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำ โดยระบายน้ำในฤดูแล้งลงลำน้ำเดิม
นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้าง ชลประทานขนาดกลางที่ 2 กล่าวว่า การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะกระทบพื้นที่ทำกินของราษฎร จำนวน 175 ราย รวม 267 แปลง ประมาณ 1,207 ไร่ และกระทบที่อยู่อาศัยจำนวน 16 หลัง ซึ่งจะได้การชดเชยที่ดินและทรัพย์สินทั้งกรณีที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 รวมทั้งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ จะทำให้ระดับน้ำสูงสุดท่วมถนนในบางช่วงจากบ้านสามัคคีใหม่ไปบ้านห้วยหม้อ และจากบ้านห้วยหม้อไปบ้านห้วยมุ ก็จะสร้างถนนทดแทนให้ การก่อสร้างจะใช้วัสดุก่อสร้างเขื่อนจากภายในอ่างให้มากที่สุด เพื่อลดการขนส่งวัสดุจากภายนอกเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งจะมีผลกระทบด้านเสียง ฝุ่น และการสัญจร รวมทั้งมีการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนใกล้เคียง โดยปฏิบัติตามรายงานแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP) ที่กรมชลประทานได้จัดทำรายงานและผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) แล้ว
“ผลกระทบในแง่ชีวิตและสิ่งแวดล้อม กรมชลประทานมีแผนปฏิบัติการป้องกัน แก้ไข และติดตาม โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้าง เป็นระยะเวลา 15 ปี อย่างเช่น ป่าไม้ที่ถูกน้ำท่วมก็จะปลูกป่าชดเชยให้ 2 เท่า” นายธนพลกล่าว
ด้าน ดร.สมชาย ประยงค์พันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแม่คำตั้งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนแม่จัน 13 กิโลเมตร จึงต้องออกแบบเขื่อนให้สามารถต้านแรงแผ่นดินไหวได้ที่ขนาด 6.8 โดยออกเเบบตามมาตรฐานต้านแผ่นดินไหวทั้งของกรมชลประทานเเละมาตรฐานระดับโลก
ส่วน นายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย มักมีปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเขตอำเภอพาน, อำเภอแม่จัน, อำเภอแม่ลาว
ส่วนในช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม จะเป็นช่วงที่ขาดฝนทำให้แม่น้ำและลำห้วยต่างๆ มีปริมาณน้ำลดลง บางแห่งน้ำขอด อย่างเช่นที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ทำให้ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร โดยพื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก คือ อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย
เมื่อมีการพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้สม่ำเสมอตลอดปี ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำคำ สามารถดูแลผลผลิตจากการปลูกพืชให้มีผลผลิตมากขึ้น และจะบริการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำใน รวมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอแม่จัน และอำเภอเชียงแสนได้อีกด้วย
นายผาย วงศ์ฝั่น ประธานฝายผาม้าและประธานเครือข่ายลุ่มน้ำคำ บอกว่า ในพื้นที่มักจะประสบปัญหาแล้งและท่วมสาหัส อยู่เสมอ อย่างเช่น ในขณะนี้เกิดภาวะภัยแล้งรุนแรงจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ ไร่นาเสียหาย โดยเฉพาะปีนี้ไร่นาในอำเภอเชียงแสนเสียหายหนักมาก จึงรอความหวังให้กรมชลประทานเร่งก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำให้ได้โดยเร็ว
นายเขียว วิยาพร้าว กรรมการลุ่มน้ำคำ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย บอกว่ารอคอยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำมานานกว่า 30 ปี ปีนี้ ในตำบลศรีดอนมูล นาข้าวยืนต้นตายจากปัญหาภัยแล้งกว่า 2,000 ไร่ เพราะน้ำในคลองส่งน้ำแห้งขอด อ่างเก็บน้ำแม่คำจึงเป็นความหวังของชาวบ้านที่จะสามารถเพิ่มรายได้จากการทำการเกษตรและน้ำกินน้ำใช้ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย.