วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันป่า และPM 2.5 เชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในงานแถลงสรุปผลการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และพ.อ.จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าตั้งแต่ห้วงเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นมา จังหวัดเชียงราย ได้ดำเนินการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และห้วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ดำเนินการเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาทิ การสำรวจข้อมูลผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล การเตรียมความพร้อมห้องปลอดฝุ่น และบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับกรณีเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากนั้นในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานการปฏิบัติ ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ จัดทำข้อมูลกลาง ตลอดจนบริหารจัดการสถานการณ์ และบูรณาการการสั่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาในทุกพื้นที่/ทุกระดับ ทั้งอำเภอ ตำบล
โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ ที่ทำการปกครองจังหวัด ฝ่ายทหาร หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานจังหวัด สำนักงาน ปภ. จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด พร้อมกล่าวต่อไปว่าได้กำหนดแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง ระหว่างวันที่ 16 มกราคม -14 กุมภาพันธ์ 2567 ดำเนินการผ่านระบบ Burn Check รวม 30 วัน เพื่อรองรับกรณีเกิดภาวะวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จำนวน 18 แผน (ระดับจังหวัด 1 แผน ระดับอำเภอ 18 แผน) และในวันที่ 18 มกราคม 2567 ได้เดินทางไปที่จังหวัดพะเยา เพื่อลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและร่วมกำหนดช่วงเวลาการห้ามเผาในที่โล่งทุกชนิดให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ร่วมกับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน) โดยกำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 15กุมภาพันธ์ – 30 เดือนเมษายน 2567 เป็นระยะเวลา 76 วัน หลังจากนั้นจังหวัดเชียงราย ได้ประกาศห้ามการเผาในที่โล่งทุกชนิดโดยเด็ดขาด “76 วันปลอดการเผา ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย” เพื่อควบคุมและป้องกันการสะสมของมลพิษทางอากาศ อันส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
ด้านนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าสำหรับการบรรเทาและดูแลผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จังหวัดเชียงรายได้ออกประกาศ เรื่อง “มาตรการป้องกันและลดผลกระทบกรณีฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง” โดยให้ทุกภาคส่วนดำเนินการจนกว่า PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 75 มคก./ลบม. ให้ อปท. จัดให้มี Safety Zone ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งตลอดจนสนับสนุนหน้ากากอนามัยให้แก่ประชาชน การเข้ารับบริการทางการแพทย์จากเดิมรับบริการแบบ On Site ให้ปรับใช้ระบบ Telemedicine และจัดส่งยาถึงบ้าน เปิดคลินิกมลพิษและจัดเจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาล/หน่วยบริการสาธารณสุข ทุกวันไม่เว้นวันหยุด บริการห้องปลอดฝุ่น 1,225 แห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย หน่วยบริการสาธารณสุขเยี่ยมผู้ป่วย 3 กลุ่มโรค (โรคหัวใจหลอดเลือด COPD หอบหืด) 23,779 ครั้ง อสม. เยี่ยมกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่ม (ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง) 277,238 ครั้ง
สนับสนุนห้องปลอดฝุ่นและมุ้งสู้ฝุ่นแก่ผู้ป่วยติดเตียง จำนวน 552 ราย แจกจ่าย Surgical Mask และ N95 จำนวน 232,000 ชิ้น พร้อมนี้สถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่มอบหน้ากาก N95 ให้กับจังหวัดเชียงราย อีกจำนวน 33,000 ชิ้น สำหรับชุดดับไฟป่าได้จัดบริการตรวจสุขภาพเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานไปแล้วจำนวน 4,429 คน และกองทุนแม่บ้านมหาดไทยได้สนับสนุน เสื้อ หมวก ไฟฉาย และรองเท้าSafety เพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน ให้แก่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็วอำเภอ/จังหวัด จำนวน 240 คน และสนับสนุนเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาลและเงินรางวัลนำจับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 170,000 บาท เพื่อเป็นการขอบคุณในความเสียสละและสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน
พ.อ.จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม – 30 เมษายน 2567 จังหวัดเชียงรายประกาศเป็นห้วงยกระดับปฏิบัติการควบคุมเข้มข้นพิเศษเนื่องจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราชเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องเร่งรัดการควบคุมการเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เพื่อมิให้สถานการณ์ฝุ่นรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงได้ชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วอำเภอ/จังหวัด จำนวน 68 ชุด ปิดป่าอนุรักษ์ 25 ป่า ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด หอดูไฟ ในพื้นที่ป่า จำนวน 266 แห่ง ได้รับการสนับสนุนชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟและเสือไฟ จากกรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ปฏิบัติการทางอากาศโดยใช้อากาศยาน(ฮ. KA-32/BT-67 และ DA-42 MNG)
พร้อมกำชับการปฏิบัติภาคพื้น แม้จะดับไฟได้แล้วให้ฝังตัวเฝ้าระวังการประทุซ้ำทุกจุด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ลักลอบเข้าไปในพื้นที่ป่า รวมทั้งกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเผาและการก่อมลพิษทางอากาศ ซึ่งได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ/ดำเนินคดีไปแล้วจำนวน 14 คดี ในพื้นที่ 7 อำเภอ 11 ตำบล (ได้แก่อำเภอเมืองเชียงราย, อำเภอเชียงของ และอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอละ 3 คดี / อำเภอแม่สรวย 2 คดี /อำเภอแม่สาย อำเภอพญาเม็งราย และอำเภอเวียงชัย อำเภอละ 1 คดี) เป็นคดีฐานความผิดตาม พรบ.ป่าไม้/อุทยาน จำนวน 7 คดี และคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จำนวน 7 คดี เปรียบเทียบปรับไปแล้ว 3 ราย จำนวนเงิน 3,000 บาท ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินคดี
ทั้งนี้สถานการณ์ภาพรวมของจังหวัดเชียงราย ห้วงห้ามการเผาฯ การเกิดจุดความร้อนลดลงจากปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน 5,826 จุด ซึ่งจุดความร้อนในปี 2567 มีทั้งหมด 1,962 จุด สำหรับค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานสูงสุด 209.9 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ได้แก่สถานีตรวจวัดตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย อีกทั้งในห้วงตั้งแต่ 1 – 30 พฤษภาคม 2567 จังหวัดเชียงรายได้จัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงระดับอำเภอและระดับตำบล จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนทุกท่านบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามแผนฯ ที่ได้กำหนดไว้ เพื่อลดการสะสมของฝุ่นควัน สุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี และเศรษฐกิจที่ดี แต่หากเกิดกรณีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานจะหยุดบริหารจัดการเชื้อเพลิงทันที หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามสามารถติดต่อได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือที่ว่าการอำเภอใกล้บ้าน หรือศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย หรือ โทร 053602602.