วันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวจักษณา ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายวีรชน สุวรรณปราการ นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานที่จัดตั้งศูนย์ใกล่กลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนตำบลเวียงชัย ซึ่งได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ณ ศูนย์ใกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ตำบลเวียงชัย อำภอเวียงชัย จังหวัดเซียงราย ซึ่งสถานที่การจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นอาคารบริเวณบ้าน ของนางวันดี ราชชมภู อดีตนายอำเภอเวียงชัย
นางวันดี กล่าวว่า หลังจากเกษียณอายุราชการมาแล้ว มีความมุ่งมั่น มีเจตนรมณ์ที่ดีที่จะช่วยเหลือประชาชน ในทุกครั้งที่มีโอกาส ซึ่งปัจจุบันได้มีประชาชนเข้ามาปรึกษาหารือขอคำชี้แนะในเรื่องราวต่างๆแทบทุกวัน โดยเฉพาะในเรื่องคดีความต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน ได้อย่างถูกต้องตามกระบวนการทางกฎหมาย จึงได้ขอจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 และระเบียบกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน พ.ศ. 2562
ซึ่งในปัจจุบันแม้ว่ารัฐจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมความประพฤติของคนในสังคม โดยมีกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันประกอบด้วยองค์กรของรัฐ คือ ตำรวจ อัยการ และศาลยุติธรรม เป็นกลไกในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแต่ละองค์กร มีภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแบบพิธีการ เริ่มตั้งแต่การสืบสวน สอบสวน ฟ้องร้องคดีและ เรื่อยไปจนกระทั่งได้มีการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาททางอาญาโดยศาลยุติธรรมก็ตาม
แต่การดำเนิน กระบวนการยุติธรรมโดยองค์กรต่าง ๆ มีกฎเกณฑ์ขั้นตอนที่จะต้องปฏิบัติไปตามตัวบทกฎหมายซึ่งมีรายละเอียดขั้นตอนวิธีการที่ซับซ้อนมาก จึงต้องใช้เวลาการดำเนินการที่ยาวนานและสิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก เพื่อความสะดวกรวดเร็วและเป็นธรรมในการระงับข้อพิพาททางอาญาอีกทั้งเพื่อเป็นการกลั่นกรองคดีความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ระงับลงได้โดยไม่จำเป็นต้องนำข้อพิพาทเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมายอันจะเป็นผลให้องค์กรต่าง ๆ ในกระบวน การยุติธรรมมีเวลาในการพิจารณาดำเนินการกับ คดีความผิดอุกฉกรรจ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะเดียวกันผู้เสียหายในคดีความผิดเล็กน้อยก็ได้รับการดูแล คุ้มครองมิให้ถูกล่วงละเมิดสิทธิตามกฎหมายอาญาและมิได้ถูกทอดทิ้งจากกระบวนการยุติธรรม และได้มีความคิดและรูปแบบวิธีการระงับข้อพิพาทนอกกระบวนยุติธรรมทางอาญาขึ้นหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของสังคม เช่น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การประนอมข้อพิพาท การประนีประนอมยอมความ การอนุญาโต ตุลาการ และการชะลอการฟ้อง เป็นต้น
ปัจจุบันนี้ ได้มีพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ถือเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐและภาคประชาชนสามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าทนาย ค่าธรรมเนียมศาล เป็นการดำเนินการให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันใน การระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยข้อพิพาท และให้ข้อตกลงอันเกิดจากความตกลงยินยอมของคู่กรณีมีสภาพบังคับตามกฎหมาย ประชาชนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง ทำให้ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ลดปัญหาความขัดแย้ง และเกิดความสมานฉันท์ในการยุติข้อพิพาท ได้อีกด้วย.