วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ที่ รพ.สต. นางแลและชุมชนตำบลนางแล หมู่ 13 ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายแพทย์ภุชงค์ ชื่นชม , นายแพทย์คงศักดิ์ ชัยชนะ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อและ นายแพทย์สุรินทร์ สุมนาพันธุ์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย โดยมีสาธารณสุขอำเภอเมืองเชียงราย อสม. ผู้นำชุมชนในพื้นที่ร่วมนำเสนอและให้ข้อมูล
นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วงฤดูฝนช่วง เดือนมิถุนายน – กันยายน ในปี 2567 มีการคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในจังหวัดเชียงราย อาจมีจำนวนผู้ป่วยสะสมสูงถึง 10,000 คน ในการนี้จึงได้เสนอให้ดำเนินการตามมาตรการ “4 เน้น 4 เดือน” อย่างเข้มข้นเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยในช่วงดังกล่าวให้ต่ำกว่าการคาดการณ์ ได้แก่
1) เน้นการเฝ้าระวังโรคและยุงพาหะ โดยการสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายต่ำกว่าร้อยละ 5
2) เน้นการตอบโต้ และควบคุมยุงพาหะ โดยหน่วยงานสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมโรคไข้เลือดออกให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาการ
3) เน้นการวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว โดยผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไข้เลือดออกทุกรายควรได้รับการคัดกรองตรวจวินิจฉัยด้วยชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรวดเร็ว (NS1 Rapid Test) ในหน่วยบริการปฐมภูมิ
4) เน้นการสื่อสารความเสี่ยง ให้ร้านขายยาและสถานบริการทางการแพทย์งดจ่ายยากลุ่ม NSAIDs ให้แก่ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้เลือดออก เพราะยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการระคายเคืองกับกระเพาะอาหาร อาจทำให้เลือดออกได้ และยังทำให้เกล็ดเลือดไม่แข็งตัวอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ขอแนะนำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อไข้เลือดออกสู่บุคคลในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งในกลุ่มเด็กซึ่งเป็นกลุ่มวัยที่พบป่วยมากที่สุด และในกลุ่มผู้สูงอายุที่พบว่าเมื่อป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตมากที่สุด
นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการดังกล่าวจะสำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทั้งภายในบ้านและบริเวณรอบๆ บ้าน โดยปิดฝาภาชนะใส่น้ำใช้ให้มิดชิด ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ปล่อยปลากินลูกน้ำ เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์ พร้อมทั้งขัดขอบภาชนะเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย และเก็บขยะบริเวณรอบบ้าน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย.