“กาแฟดอยตุง” เปลี่ยนพื้นที่จากการทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น สู่การสร้างอาชีพ

แชร์ข่าว

เส้นทางสาย “ชา-กาแฟ และเส้นทางไมซ์” WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 [ ep.3 ]

กาแฟดอยตุง… ถือว่าเป็นสุดยอดกาแฟ อีกหนึ่งแห่งของจังหวัดเชียงราย “กาแฟดอยตุง” ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากสหภาพยุโรป ในปี 2563 และในปี 2566 ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากประเทศญี่ปุ่น “กาแฟดอยตุง” เป็นกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่ปลูกโดยชาวเขาในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ บบเทือกเขานางนอน จังหวัดเชียงราย ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ผลิตภัณฑ์กาแฟของดอยตุงมีทั้งกาแฟคั่วและกาแฟดริปซึ่งมีจำหน่ายที่ร้านค้าของดอยตุงกว่า 20 สาขา และในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ นอกจากนี้ ร้านมูจิ (MUJI) แบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์จากประเทศญี่ปุ่นยังเลือกใช้กาแฟดอยตุงที่ร้านคาเฟ่ เพื่อเชื่อมั่นในคุณภาพระดับสากล และต้องการสนับสนุนเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2530 ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 11,000 คน จาก 6 ชนเผ่า ท่ามกลางความแห้งแล้งและความเป็นอยู่แร้นแค้นที่ชาวบ้านที่ดอยตุงต้องหาทางรอดด้วยการประกอบอาชีพผิดกฏหมาย ทั้ง ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น

เมื่อครั้งนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ทรงเล็งเห็นถึงต้นเหตุของปัญหาดังกล่าว ว่าเกิดความยากจน และการขาดโอกาสในชีวิต ทรงมีพระวิสัยทัศน์ให้คนดอยตุงสามารถพี่งหาตัวเองได้ และอยู่ร่วมกับป่าไม้อย่างพึ่งพาอาศัย การดำเนินโครงการจึงเป็นไปในรูปแบบ “ปลูกคนปลูกป่า” คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาและยั่งยืน หรือแก้ปัญหาความยาวจนที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง และยึดหลักความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

เมื่อปี 2532 โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงราย เข้ามาส่งเสริมการปลูกกาแฟ โดยใช้แนวคิด “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน” ได้นำเอากาแฟต้นแรกเข้ามาวิจัยและร่วมกับชุมชนเพื่อการปลูกในพื้นที่โครงการโดยมีแบรนด์ของตนเอง “กาแฟดอยตุง” ซึ่ง 50 % ของกาแฟจะเป็นผลผลิตที่มาจากพื้นที่ป่ากล้วย ต.แม่ฟ้าหลวง

และปี 2537 มีการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟให้มากขึ้น โดยโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้จัดสรรพื้นที่ให้กับชาวบ้านในการดูแล ส่วนโครงการเป็นผู้รับซื้อเมล็ดกาแฟชาวบ้าน ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ปี 2546 สำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ( UNODC ) ได้ยกย่องหลักการพัฒนาของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ว่ามีส่วนสำนคัญอย่างยิ่งในการลดปริมาณการปลูกพืชเสพติดและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

จากนั้นปี 2549 กาแฟดอยตุงได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI ) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย รับรองแหล่งกำเนิดเมล็ดกาแฟคุณภาพในพื้นที่ดอยตุง และสามารถสอบย้อนหลังได้ในทุกกระบวนการผลิต

ทั้งนี้ปี 2560 ชาวบ้านสามารถผลิตกาแฟด้วยตนเอง และขยายพื้นที่การปลูกใช้หลักการ “คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน” และให้ความรู้ชาวบ้านในการแปรรูปกาแฟด้วยตนเอง ชาวบ้านจึงมีการรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปกาแฟ เพื่อยกระดับสินค้าและสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่ 2 หมูบ้าน (บ้านป่ากล้วย และ บ้านริเช ) ซึ่งเดิมชาวบ้านจะขายผักสดให้กับโครงการฯ เพียงอย่างเดียว

ร่วมส่งเสริมเส้นทางสาย “ชา-กาแฟ” จังหวัดเชียงราย โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมได้ จัดงาน WORLD TEA & COFFEE EXPO 2024 ณ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2567 ที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย.

ข่าวอื่นๆ