ม.แม่ฟ้าหลวง ระดมสมองจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติ

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงจัดการประชุมระดมสมองเพื่อถอดบทเรียนการจัดทำแผนภัยพิบัติ หลังประสบเหตุน้ำท่วมฉับพลันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 โดยมี ผศ.ดร.มัชฌิมา นราดิศร อธิการบดี เป็นประธานเปิดการประชุม ผศ.ดร.ณัฐพรพรรณ อุตมา กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมคำมอกหลวง อาคาร M-Square

ผศ.ดร.มัชฌิมา กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายเผชิญสถานการณ์มหาอุทกภัยรุนแรงในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา และเมื่อต้นเดือนตุลาคม พื้นที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยและชุมชนใกล้เคียงก็ประสบภัยน้ำท่วมฉับพลันจากฝนตกหนัก ประกอบกับมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งอุทกภัย ดินถล่ม แผ่นดินไหว และปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงจำเป็นต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากผู้บริหาร บุคลากร และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาการจัดการ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และสำนักวิชาการแพทย์บูรณาการ โดยมีวิทยากรหลักคือ อ.ณัฐพล รังสฤษฎ์วรการ บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อ.ดร.นพฤทธิ สุทธศิลป์ นำเสนอปัญหาที่พบหลังสถานการณ์คลี่คลายด้านขยะ ดินโคลน และการขอรับความช่วยเหลือ และ ผศ.อรนลิน สิงขรณ์ นำเสนอประเด็นปัญหาและการเยียวยาด้านสุขภาพจิตใจ

การประชุมแบ่งการทำงานเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ทีมผู้บริหารระดับสูง ทีมผู้บริหารระดับกลาง ผู้ปฏิบัติงานตามฟังก์ชันของหน่วยงาน และกลุ่มนักศึกษาผู้ประสบภัย โดยแต่ละกลุ่มจะร่วมกันถอดบทเรียนครอบคลุมทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อพัฒนาระบบการแจ้งเตือน การอพยพ การเตรียมศูนย์พักพิง การจัดเตรียมอุปกรณ์ อาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภค และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ การจัดทำแผนภัยพิบัติดังกล่าวจะเชื่อมโยงกับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2565-2569) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2567 ยุทธศาสตร์ที่ 5 ว่าด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างคุณค่าเพิ่มในอนาคตอย่างยั่งยืน โดยจะมีการกำหนดโครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การถอดบทเรียนครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาแผนภัยพิบัติที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที และสามารถดูแลความปลอดภัยของนักศึกษา บุคลากร ตลอดจนทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิการบดี ม.แม่ฟ้าหลวง กล่าวทิ้งท้าย.

ข่าวอื่นๆ