ต่อยอดถั่วดาวอินคามีประโยชน์ต่อร่างกาย ขยายพื้นที่ปลูก ราชภัฎเชียงราย จับมือเอกชนพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกของตลาดอนาคต

แชร์ข่าว

เมื่อวันที่8สิงหาคม2561 ผศ.ดร.ศรไชย มุ่งไธสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมการร่วมขับเคลื่อนพืชถั่วดาวอินคาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กับ นายวิชัย วิศิษฐฎากุล ประธานกรรมการบริษัทเชียงรายเกษตรกรรมก้าวหน้า จำกัด ที่ ห้องประชุมอธิบการบดี ชั้น 3 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยมี ดร.ไพโรจน์ ด้วงนคร รองอธิการบดี ผศ.ดร.วรินทรีย์ เยาว์ธานี รองอธิการบดี ผศ.ดร.สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนาผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจพลังงานและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายร่วมเป็นสักขีพยาน

 

โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมพัฒนาบุคลากรนักวิทยาศาสตร์และเกษตรกรเกี่ยวกับการปลูกและดูแลรักษาพืชถั่วดาวอินคาการพัฒนาสายพันธุ์การพัฒนากลุ่มเกษตรกร

 

ส่วนถั่วดาวอินคา สามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมาย โดยเฉพาะน้ำมันถั่วดาวอินคา ซึ่งสามารถลดระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด ลดอาการโรคอักเสบ เก๊าต์ รูมาตอยด์ ลดความดันโลหิตสูง แถมยังป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วย ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม ช่วยบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้ ป้องกันและบรรเทาอาการปวดไมเกรน ช่วยบำรุงสายและระบบประสาทตา นอกจากนี้ยังลดการปวดประจำเดือนของสุภาพสตรี

อย่างไรก็ตาม ถั่วดาวอินคามีถือว่า ต้นกำเนิดที่ป่าอะเมซอน ประเทศเปรู ต่อมาประเทศจีนมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพจึงได้นำไปพัฒนาการปลูกที่เมืองจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน แต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ที่มีการปลูกยางพาราเป็นจำนวนมากดังนั้นเมื่อตนมีโอกาสไปศึกษาดูงานจึงได้ร่วมมือนำพันธุ์ถั่วดาวอินคามาปลูกที่ประเทศไทยเป็นรายแรก ซึ่งเมื่อได้ศึกษาและปลูกแล้วพบว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางอาหาารอย่างมากและเคยได้รับรางวัลชนะเลิศอาหารที่มีคุณค่าในการประกวดระดับโลกที่ประเทศฝรั่งเศสมาแล้วด้วย

ดร.ไพโรจน์ กล่าวว่า เชื่อว่าพืชถั่วดาวอินคาสามารถเจริญเติบโตได้ดีกับภูมิประเทศและอากาศของภาคเหนือ โดยเฉพาะมีผู้ที่มีองค์ความรู้ด้านนี้มากอย่างบริษัทเชียงรายเกษตรกรรมก้าวหน้า จำกัด ดังกล่าว ซึ่งได้มีการพัฒนาการปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์กระทั่งพบว่าประเทศเวียดนามได้ว่าจ้างให้ นายวิชัยไปศึกษาวิจัย ณ ประเทศเวียดนาม เพราะก็กำลังมีการเร่งพัฒนาการปลูกพืชขนิดนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นในโอกาสที่บริษัทดำเนินการใน จ.เชียราย ทางราชภัฏเชียงราย ได้พยายามแสวงหาความร่วมมือเพื่อนำองค์ความรู้มาเผยแพร่ต่อเกษตรกรไทยและภาคเหนือได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายวิชัย กล่าว ว่าอย่างไรก็ตามเนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีการรับรองใดๆ ในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ต้องมาเริ่มต้นศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นทางการและเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมกับทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อยกระดับมาตรฐานและส่งเสริมเกษตรกรไทยไปพร้อมๆ กัน เพราะพืชชนิดนี้นอกจากจะทรงคุณค่า ยังให้ราคาดีมากแต่ประเทศไทยยังไม่มีผลผลิตเพียงพอแม้แต่ใน สปป.ลาว และประเทศข้างเคียงก็ไม่มีขณะที่ทางประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เข้ามากว๊านซื้อผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปหมดและล่าสุดประเทศสิงคโปร์ก็มาสั่งซื้ออีก ขณะที่ในอนาคตสามารถพัฒนาเป็นแมกโครไบโอติกหรืออาหารสำหรับสายยางให้ผู้ป่วย คนชราและทารกได้ด้วย ล่าสุดบริษัทเองก็ได้พัฒนาเป็นเวย์โปรตีนจากถั่วดาวอินคาและกำลังจดสิทธิบัตรต่อไปอีกด้วย

ด้าน ผศ.ดร.สุทธิพร กล่าวว่า ล่าสุดทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาเกษตรกรนำโดยนายยุทธศาสตร์ แลเชอกู่ ลูกศิษย์ของมหาวิทยาลัย ที่จะนำไปปลูกพื้นที่หมู่บ้านห้วยหมาก ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เนื่องจากศูนย์ฯ เคยส่งเสริมการปลูกดอกเก๊กฮวยพื้นที่หมู่บ้านม้งแปดหลัง บ้านม้งเก้าหลัง และพื้นที่ใกล้เคียงเขต ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง มาแล้วจึงต้องเฉลี่ยไปปลูกถั่วดาวอินคาดังกล่าวด้วยซึ่งในปัจจุบันเราต้องเร่งพัฒนาเพราะในประเทศเวียดนามก็เริ่มมีการปลูกได้กว่า 6,000 ไร่ และยังว่าจ้างนายวิชัยไปสนับสนุนอีกด้วยเราจึงถือโอกาสนี้ทำข้อตกลงเพื่อนำมาพัฒนาเกษตรกรไทยต่อไป

ด้านนายยุทธศาสตร์ กล่าวว่า พื้นที่บนภูเขาที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ผู้คนมีฐานะยากจนและเป็นพื้นที่ที่มักเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เพราะการปลูกพืชเกษตรต่างๆ มักถูกพ่อค้าคนกลางกดราคาให้ต่ำลง ผู้คนที่เรียนหนังสือจบมักลงมาทำงานตามตัวเมืองดังนั้นตนจึงจะนำถั่วดาวอินคาไปส่งเสริมการปลูกก่อนอย่างน้อย 1 ไร่ และค่อยๆ ขยายผลไปยังเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ต่อไป//////

ข่าวอื่นๆ