เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงานประเพณีโล้ชิงช้า บ้านผาฮี้ ม.10 ต.โป่งงาม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอแม่สาย โดยมี นายกำจรเดช ยามี กำนันตำบลโป่งงาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งงาม หัวหน้าส่วนราชการ และพี่น้องประชาชน ร่วมงานจำนวน 1,000 คน
ความเป็นมาของ ประเพณีโล้ชิงช้า หรือ อ่าข่าเรียกว่า “แย้ขู่อ่าเผ่ว” มีต้นกำเนิดมาจาดินแดนที่มีชื่อว่า “จาแดลอง” คือ พื้นที่ในประเทศจีนในปัจจุบัน มีการกล่าวไว้ว่า ดินแดนจาแดลองจะมีการจัดประเพณีโล้ชิงช้าเป็นเวลา 33 วัน เมื่อเป็นเช่นนี้คนในดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย จะต้องเตรียมเสบียงอาหารเอาไว้ เพื่อใช้ในการฉลองในวันประเพณี
ประเพณีโล้ชิงช้า ถือว่า เป็นการให้ความสำคัญกับผู้หญิง ฉะนั้น ผู้หญิงอาข่ามีการแต่งกายด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามที่เตรีนมเอาไว้ตลอดทั้งปีมาสวมใส่เป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ สำหรับหญิงอาข่าจะแต่งกายเพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็นพร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า แล้วต้องร้องเพลงทั้งลักษณะคู่และเดี่ยวอีกด้วย
ประเพณีโล้ชิงช้าจัดขึ้นเพื่อเป็นการฉลองพืชพรรณที่จะเก็บเกี่ยวไว้บริโภค เนื่องจาพืชไร่พืชสวนต่างๆ ที่ปลูกลงไปพร้อมที่จะได้ผลผลิตแล้ว โดยมีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “ขู่จ่า หม่าโบะ หม่าโบะ” ซึ่งมีความหมายว่า ประเพณีโล้ชิงช้ามีอาหารหลากลาย และสมบูรณ์นั่นเอง ชาวอาข่าได้สืบทอดประเพณีนี้มาเป็นเวลา 2,700 กว่าปีแล้ว
ซึ่งในปัจจุบันประเพณีโล้ชิงช้าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน ตรงกับช่วงที่ผลผลิต กำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อ่าข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอสำหรับการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ประเพณีโล้ชิงช้าของชาวอาข่า ถือเป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของอ่าข่าอีกมากมาย และจัดทั้งหมดเพียง 4 วันคือ
วันที่ 1″ จ่าแบ”
ผู้หญิงอาข่าอาจเป็นแม่บ้านของครัวเรือน หรือถ้าแม่บ้าน ไม่อยู่อาจเป็นลูกสาวไปแทนก็ได้ ก็จะแต่งตัวด้วยชุดประจำเผ่าเต็มยศแล้วออกไปตัดน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาน้ำที่ตักมาจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ อ่าข่าเรียกว่า “อี๊จุอี๊ซ้อ” การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วของแต่ละครอบครัว และในวันนี้ก็มีการตำข้าวปุ๊ก “ห่อถ่อง” ข้าวปุ๊ก หรือห่อถ่อง คือข้าวที่ได้จากการตำอย่าง ละเอียดโดยก่อน ที่จะตำก็จะนำข้าวสาร (ข้าวเหนียว) แช่ไว้ประมาณ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็นำมานึ่ง หลังจากนึ่งเสร็จ หรือได้ที่แล้วก็จะมีการโปรยด้วยน้ำอีกรอบหนึ่ง แล้วก็นึ่งต่อระหว่างที่รอข้าวสุก ก็จะมีการ ตำงาดำผสมเกลือไปด้วย เพื่อไม่ให้ข้าวเหนียวที่ตำติดมือเวลานำมาปั้นข้าวปุ๊กซึ่งต้องใช้ในการทำพิธีเช่นกัน
วันที่ 2 วันสร้างชิงช้า
เป็นวันที่ทุกคนจะมารวมตัวกันที่บ้านของ “โจว่มา” ผู้นำศาสนา เพื่อจะปรึกษา และแบ่งงานในการจะปลูกสร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชน หรืออ่าข่า เรียกว่า “หล่าเฉ่อ” ในวันนี้จะไม่มีการทำพิธีใดๆ ทั้งสิ้น แม้กระทั่งสัตว์ก็จะไม่ฆ่า หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ก็จะมีพิธีเปิดโล้ชิงช้าโดย โจว่มา ผู้นำศาสนา จะเป็นผู้เปิดโล้ก่อน จากนั้นทุกคนก็สามารถโล้ได้ หลังจากที่สร้างชิงช้าใหญ่ของชุมชนเสร็จ ต้องมาสร้างชิงช้าเล็กไว้ ที่หน้าบ้าน ของตนเองอีกเพื่อให้ลูกหลานของตนเล่น ทุกครัวเรือนจะต้องสร้างเพราะถือว่าเป็นพิธี
วันที่ 3 “วัน ล้อดา อ่าเผ่ว”
วันนี้ถือเป็นวันพิธีใหญ่ มีการเลี้ยงฉลองกันทุกครัวเรือนมีการเชิญผู้อาวุโส หรือแขกต่างหมู่บ้านมาร่วมรับประทานอาหารในบ้านของตน ผู้อาวุโสก็จะมี การอวยพรให้กับเจ้าบ้านประสบแต่ความสำเร็จในวันข้างหน้า
วันที่ 4 “จ่าส่า”
สำหรับในวันนี้จะไม่มีการประกอบพิธีกรรมอะไรทั้งสิ้น นอกจากพากันมาโล้ชิงช้า แต่พอตะวันตกดิน หรือประมาณ 18.00 น ผู้นำศาสนาก็จะทำการเก็บเชือกของชิงช้า โดยการมามัดติดกับเสาชิงช้า ถือว่าบรรยากาศในการโล้ชิงช้าก็จะได้จบลงเพียงเท่านี้ และหลังอาหารค่ำก็จะทำการเก็บเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ เข้าไว้ที่เดิม หลังจากที่เก็บเครื่องเซ่นไหว้เหล่านี้แล้วถือว่าเสร็จสิ้นพิธีกรรมประเพณีโล้ชิงช้า
///