อุตสาหกรรมเตรียมเสนอโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรมสู่ SME 4.0 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ต่อ ครม.สัญจร ที่เชียงราย
เมื่อวันที่29 ตุลาคม2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมหารือกับหัวหน้าส่วนราชการและภาคเอกชนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) ในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 8/2561 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีนางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานเครือข่ายสมุนไพรสามัคคี จ.เชียงราย ประธานกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแฟชั่นล้านนา เข้าร่วม ณ โรงแรมเอ็ม บูติค รีสอร์ท เชียงราย
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีศักยภาพในด้านการเกษตรและผลิตภัณพ์อุตสาหกรรมเกษตร โดยปัจจุบันมีการแปรรูปพืช ผัก ผลไม้ และสินค้าเกษตรขั้นต้นที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ วัตถุดิบสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ข้าว ชา กาแฟ สัปปะรด และสมุนไพร ดังนั้น ภาคเอกชนโดยสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้แก่มหาวิทยาลัยพะเยามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและอุทยานวิทยาวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงรายได้ให้เกษตรกร
โดยเตรียมเสนอโครงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ด้วยนวัตกรรมสู่ SME 4.0 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (Food and Agro-Industry SMEs Innovative Driven Project for the Upper Northern Thailand 2 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในพื้นที่ให้มีขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจเชื่อมโยงสู่สากล ยกระดับกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปให้มีมูลค่าเพิ่มสูงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม และเป็นการยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นอุตสาหกรรม S-Curve ให้มีขีดความสามารถในการสร้างมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ภาคเอกชนในพื้นที่ยังได้นำเสนอความต้องการเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปใน 4ประเด็น คือ 1)การพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูงสินค้าเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัยภาคเหนือตอบบน 2 2)การจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมไผ่ครบวงจร (Bamboo City) เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไผ่ภาคเหนือเกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยและพัฒนาเป็นนวัตกรรมและแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมไผ่สู่ตลาดภายในและต่างประเทศ
โดยศูนย์วิจัยฯ จะดำเนินการพัฒนาพันธุ์ไผ่ เครื่องจักรแปรรูปไม้ไผ่ เช่น เครื่องตอกตะเกียบ เครื่องอัดไป่ เปิดไม้ท่อนและไม้ลิ้น เครื่องอัดเชื้อเพลิงการส่งเสริมการปลูกไม้ไผ่ และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากไผ่เชื่อมโยงตลาด 3)เชียงรายเมืองสมุนไพรครบวงจร มีแนวทางการพัฒนาด้านสมุนไพรและเกษตรแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีหนุนเสริมพัฒนาการปลูกและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร เกษตรอินทรีย์ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน ทั้งผลักดันให้เกิดการตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุนชมด้านสมุนไพรที่เข้มแข็ง และ 4) การยกระดับแฟชั่นล้านนาตะวันออก การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าทอและเครื่องประดับโดยใช้อัตลักษณ์ล้านนา การยกระดับและพัฒนางานศิลปะหัตถอุตสาหกรรมเชิงกลุ่มด้านเครื่องประดับและผ้าทอ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องประดับให้ได้มาตรฐานการส่งเสริมการตลาด และการฝึกอบรมผู้ประกอบการ////